พิจิตร - ผู้ว่าฯ พิจิตรประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัยโรงงานพลุเถื่อนระเบิดร่างผู้เสียชีวิตถูกฉีกเป็นชิ้น กระเด็นไกลติดยอดไม้-หลังคาบ้าน ตาย 5 เป็นเด็ก 1 สูญหายหาไม่พบอีก 1 ราย
ความคืบหน้ากรณีโรงงานทำพลุไล่นกระเบิดในพื้นที่ ต.หนองหญ้าไทร อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร เมื่อเย็นวันที่ 4 ก.พ. 64 ที่ผ่านมา ล่าสุดนายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วย น.ส.ปิยะฉัตร ไพชนม์ นายอำเภอสากเหล็ก และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายอีกครั้ง
ผู้ว่าฯ พิจิตร กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที 4 ราย ซึ่งทั้ง 4 รายถูกแรงระเบิดฉีกร่างเป็นชิ้น กระเด็นกระจายไปคนละทิศละทางห่างจากจุดเกิดเหตุไกลนับร้อยเมตร เศษชิ้นเนื้อปลิวไปติดอยู่บนยอดไม้-หลังคาบ้านที่อยู่ในรัศมีใกล้เคียง ซึ่งหน่วยกู้ภัยได้พยายามช่วยกันรวบรวมเศษชิ้นเนื้อของผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานนำไปพิสูจน์อัตลักษณ์ว่าชิ้นเนื้อต่างๆ เป็นของใครกันบ้าง แต่ล่าสุดทางผู้ใหญ่บ้านได้รายงานว่าไม่สามารถเก็บชิ้นเนื้อของผู้ตายได้หมด ยังคงมีหลงเหลือที่ปลิวไปติดอยู่บนยอดไม้ ไปติดอยู่บนหลังคาบ้าน เริ่มส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งแล้ว
ส่วนผู้เสียชีวิต รายที่ 5 คือ เด็กชายอธิวัฒน์ พวงมาลา ซึ่งอยู่บ้านข้างเคียงกับบ้านที่เกิดเหตุ ถูกเศษวัสดุของบ้านเรือนที่โดนแรงระเบิดกระแทกศีรษะเป็นบาดแผลฉกรรจ์ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล เป็นผู้เสียชีวิตรายเดียวที่อวัยวะและร่างกายอยู่ครบ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม แต่ขณะนี้ยังแทงบัญชีว่าเป็นผู้สูญหาย นั่นคือนางจำเนียน พรมวิเศษ อายุ 82 ปี แม่ของเจ้าของโรงงานพลุซึ่งหาตัวไม่เจอ แต่พบเข็มขัดที่ใช้รัดผ้านุ่งขาดเป็นชิ้นๆ ตกอยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งจะได้สืบสวนต่อไป
ขณะที่นายประเสริฐ พรมชาติ ผู้ทำพลุไล่นกขายโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะโรงงานเกิดระเบิดไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและหลบหนีไป ล่าสุดได้ติดต่อมายังผู้นำชุมชนแล้วว่าจะขอเข้ามอบตัว
สำหรับแนวทางช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานพลุไล่นกระเบิดครั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร มอบหมายให้นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ รองผู้ว่าฯ ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร/ผู้อำนวยการจังหวัด ลงนามประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิจิตร ประกาศให้พื้นที่ในหมู่บ้านดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย เพื่อให้ส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ ในเขตพื้นที่ประสบภัยดังกล่าวภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 แต่จะช่วยเหลือเฉพาะชาวบ้านและบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ ส่วนบ้านผู้ก่อเหตุและผู้ร่วมก่อเหตุตามกฎหมายจะไม่ได้สิทธิดังกล่าวนี้