xs
xsm
sm
md
lg

“สาธิต” นำคณะลงพื้นที่เมืองพัทยา ตอกย้ำความมั่นใจตะวันออกปลอดภัยไร้โควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ศูนย์ข่าวศรีราชา - 
“สาธิต” นำคณะลงพื้นที่เมืองพัทยา ตอกย้ำความมั่นใจตะวันออกปลอดภัยไร้โควิด-19 เผยรัฐบาลพร้อมนำวัคซีนฉีดให้ประชาชนได้ในเดือน มี.ค.นี้แน่นอน

วันนี้ (1 ก.พ.) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย และคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันโควิด-19 ภายใต้กิจกรรมรณรงค์ “ห้างสรรพสินค้าปลอดภัย มั่นใจไร้โควิด” พร้อมเปิดเมืองพัทยาสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวที่บริเวณชายหาดเมืองพัทยา จ.ชลบุรี พร้อมเข้าเยี่ยมชมศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา พัทยา

โดยมี นายนริศ นิรามัยวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายอำนาจ เจริญศรี นายอำเภอบางละมุง นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม


ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ว่า ขณะนี้มีมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจนสามารถที่จะคลายล็อกให้แก่สถานประกอบการบางประเภท ไม่เว้นแม้แต่ในพื้นที่ที่มีการควบคุมสูงสุดในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้ง จ.ระยอง และชลบุรี

โดยที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมอนามัยลงพื้นที่ตรวจแนะนำเพื่อเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ศูนย์การค้า และเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคาร การเก็บตัวอย่างน้ำ อาหาร มือผู้สัมผัสอาหาร รวมทั้งให้ศูนย์การค้าได้ประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม “Thai Stop COVID” เพื่อตอกย้ำให้ประชาชนที่เดินทางเข้าใช้บริการได้รับความปลอดภัยสูงสุด


พร้อมฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ประชาชนเดือน มี.ค.นี้

ส่วนความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่ประชาชนนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนที่จะนำเข้าจาก 2 บริษัท คือ วัคซีนจากแอสตราเซเนกา และซิโนแวค และเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา รัฐบาลยังได้มีการเจรจาที่จะขอให้ บริษัทซิโนแวค ส่งวัคซีนเข้ามาเพิ่มในเดือน ก.พ.

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะได้วัคซีนฉีดให้แก่คนไทยในเดือน มี.ค.นี้ โดยจะคัดเลือกกลุ่มที่มีความเหมาะสมที่จะได้รับวัคซีนก่อน เช่น บุคลากรที่มีความเสี่ยงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และบุคคลที่หากติดเชื้อโควิด-19 จะเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในหลายๆ โรค จากนั้นจึงจะนำมาฉีดให้แก่บุคลทั่วไปตามลำดับ






กำลังโหลดความคิดเห็น