เชียงใหม่ - นายแพทย์ สสจ.เชียงใหม่ นำทีม ผอ.โรงพยาบาลใหญ่ 4 แห่ง สถานที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แถลงผลการรักษาผู้ป่วยระลอกใหม่ เผยยังอยู่ในโรงพยาบาล 22 คน เน้นย้ำความพร้อมสร้างความเชื่อมั่น
วันนี้ (14 ม.ค. 64) ที่โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายแพทย์วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์, รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชัยวัฒน์ บำรุงกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่, นายแพทย์วรวุฒิ โฆวัชรกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย, แพทย์หญิงศศิธร ศิริมหาราช ผู้อำนวยโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ และแพทย์หญิงรัฐกานต์ กาวิละ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลนครพิงค์ ร่วมแถลงผลการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ได้รวมกันเป็นหนึ่งถือเป็นทีมเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษา คล้ายกับการมีหน่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แยกกันไปตามโรงพยาบาลต่างๆ มีการใช้ทรัพยากรในการรักษา อาทิ ยารักษาโรค แบบแบ่งปันกัน
โดยในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ มีผู้ป่วยในจังหวัดเชียงใหม่รวม 28 ราย ตั้งแต่กรณีหญิงสาวที่ลักลอบข้ามแดนจากฝั่งท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดระยอง ชลบุรี และในกลุ่มที่ติดเชื้อในสถานบันเทิง ปัจจุบันมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล รวม 22 คน แบ่งเป็น โรงพยาบาลนครพิงค์ 8 คน, โรงพยาบาลประสาท 7 คน, โรงพยาบาลสันทราย 5 คน, โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 1 คน และรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอกชน (กรุงเทพ-เชียงใหม่) อีก 1 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติ 2 คน และหนึ่งในนั้นมีอาการค่อนข้างหนัก ขณะที่ 2 วันที่ผ่านมา (13-14 ม.ค. 64) ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่มีห้องปลอดเชื้อและเตียงที่รองรับผู้ป่วยหนักได้ทั้งจังหวัด 61 เตียง ผู้ป่วยอาการปานกลาง 92 เตียง คือ รวมประมาณ 150 เตียง ในส่วนของการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามนั้น ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยจะใช้พื้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จัดตั้งโรงพยาบาลสนามจำนวน 260 เตียง จะเริ่มเปิดใช้เมื่อมีผู้ป่วยตั้งแต่ 60 คนขึ้นไป จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าทีมแพทย์เชียงใหม่มีความพร้อมทั้งบุคลากร เครื่องมือ และสถานที่ สามารถดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนดูแลตนเองด้วยการปฏิบัติตัวตามาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าว และจะได้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ของโรคโควิด-19 ไปได้ด้วยกัน