xs
xsm
sm
md
lg

น่าทึ่ง! สล่าล้านนาจับมือ วช.-ม.เชียงใหม่ทำวิจัยจนสำเร็จ ผลิตกระจกโบราณบางเฉียบ ตัด-ดัด-ปักได้จริง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - สล่าล้านนาจับมือ วช.-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อยอดงานวิจัยไม่ขึ้นหิ้ง..ผลิตกระจกจืน-กระจกเกรียบ-กระจกโบราณ ที่สูญหายมานับร้อยปี ทั้งบางเฉียบแบบตัด-ดัดโค้ง-ปักบนหมอนได้ หนุนงานบูรณะและอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุได้จริง


หลังจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้สนับสนุนรองศาสตราจารย์ ดร.กมลพรรณ เพ็งพัด นักวิจัย สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ การวิจัย เรื่อง “การพัฒนาแก้วคริสตัลปราศจากตะกั่วและการประดิษฐ์แก้วคริสตัลบาง” ภายใต้แผนงานเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมด้านวัสดุนาโนและนาโนเทคโนโลยี

กระทั่งสามารถพัฒนางานที่เน้น “การประดิษฐ์แก้วคริสตัลบางเพื่อประยุกต์เป็นกระจกโบราณ” ร่วมกับโรงงานการผลิตกระจกโบราณของนายรชต ชาญเชี่ยว และคณะ เพื่อพัฒนาสูตรกระจกโบราณใหม่ๆ เป็นกระจกจืนและกระจกเกรียบ จนสามารถนำกระจกจืนและกระจกเกรียบไปบูรณะโบราณสถาน-โบราณวัตถุได้หลายแห่ง

นอกจากนี้ยังสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบประดับกระจกจืนและกระจกเกรียบที่สามารถนำไปใช้งานในการบูรณะโบราณสถานและโบราณวัตถุ และสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ใช้กระจกจืนและกระจกเกรียบตกแต่งเพื่อขยายผลเชิงพาณิชย์ในอนาคตได้อย่างสวยงาม


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้นำกระจกจืนที่ได้จากงานวิจัยถวายสัตภัณฑ์ ณ วัดช่างฆ้อง อ.เมืองเชียงใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจากศิลปิน “ฝุ่น หอสูง-นายชาญยุทธ โตบัณฑิต” ออกแบบและสร้างสัตภัณฑ์ ซึ่งเป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของการนำผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการที่สามารถต่อยอดทั้งเชิงพาณิชย์และสามารถนำไปทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย เพื่อรักษามรดกอันทรงคุณค่าให้คงอยู่เคียงคู่คนไทยสืบไป

ด้านสล่า รชต ชาญเชี่ยว ช่างหุงกระจกโบราณ งานสล่าหัตถ์ศิลป์ “กระจกจืนล้านนา” ชุมชนวัดศรีสุพรรณ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า กระจกโบราณหรือกระจกจืนได้หายไปนานแล้ว วันหนึ่งตนไปเห็นเศษกระจกตกอยู่ข้างพระธาตุ จึงหยิบขึ้นมาดู จึงเห็นว่ากระจกดังกล่าวมีวัสดุแค่สองอย่างคือตัวแก้วกับตัวจืน เราก็น่าจะทำได้


หลังจากนั้นก็เริ่มศึกษา ค้นคว้า วิจัย ลองทำมาเป็นเวลากว่า 15 ปี จนปัจจุบันสามารถทำกระจกได้ครบทุกสี ซึ่งเป็นสีโบราณ และสามารถตัดด้วยกรรไกร ดัดโค้งงอตามแบบโบราณทุกอย่าง สามารถนำไปบูรณะโบราณวัตถุ โบราณสถานในเมืองเชียงใหม่ได้หลายจุดแล้ว และขณะนี้ได้ร่วมกับอาจารย์กมลพรรณ เพ็งพัด มาพัฒนากระจก ซึ่งเดิมจะหนา แข็ง ไม่สามารถตัดได้ เมื่อตัดก็จะแตก ทำให้กระจกมีความบางจนสามารถนำไปปักบนหน้าหมอนได้

“กระจกที่จะนำมาปักได้นั้นจะต้องบางและเรียบมาก โดยขณะนี้ได้ทำการหุงกระจกที่บ้านของผมเอง และจริงๆ แล้วที่อยากทำศูนย์ทำกระจกแห่งนี้ก็เพื่ออยากให้ชุมชนมีส่วนร่วม คนรุ่นหลังได้สืบทอดวิชาหุงกระจกที่เป็นของโบราณที่สูญหายไปแล้วกว่า 100 ปี ให้อยู่คู่กับเชียงใหม่และล้านนาสืบต่อไป”
















กำลังโหลดความคิดเห็น