เชียงราย - ททท.นัดภาคเอกชนทั้งหอการค้า-สภาอุตฯ สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยว และเครือข่าย เปิดโต๊ะหารือรับมือผลกระทบโควิด-19 วันนี้ ขณะที่ผู้ประกอบการเล็งฟ้องเฉพาะคนลอบข้ามแดนนำเชื้อไวรัสติดคนในพื้นที่
วันนี้ (8 ธ.ค.) สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย หอการค้า จ.เชียงราย สภาอุตสาหกรรม จ.เชียงราย สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.เชียงราย เจ้าของที่พัก แหล่งท่องเที่ยว ชมรม เครือข่าย ฯลฯ ได้นัดประชุมกัน ณ ร้านอาหารท่าน้ำภูแล อ.เมืองเชียงราย เพื่อพยายามผลักดันมาตรการการท่องเที่ยวของ ททท.คือ Amazing Thailand Safety & Health Administration หรือ SHA และหารือถึงแนวทางการปรับตัวรับมือผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ไปพร้อมกัน หลังพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ จ.เชียงราย 26 คน ซึ่งเป็นผู้ลักลอบข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติจากท่าขี้เหล็ก-แม่สาย เข้ามาก่อนตรวจพบเชื้อภายในจังหวัด 5 คน และติดเชื้อจากผู้ที่หลบหนีเข้ามาอีก 1 คน และพบในศูนย์กักดูอาการชายแดน อ.แม่สาย อีก 20 คนนั้น ได้ทำให้ทางภาคเอกชนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวใน จ.เชียงราย ร่วมกับนายกิตติ ทิศสกุล ที่ปรึกษาสมาคมสมาพันธ์การท่องเที่ยวภาคเหนือ กล่าวว่า เชียงรายมีห้องพักโรงแรม รีสอร์ต ฯลฯ ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องประมาณ 600 แห่ง มีห้องพักรวมกันประมาณ 20,000 ห้อง จึงมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 รวมกันกว่า 10,000 คน เพราะหากเป็นช่วงเวลาปกติก็จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพักและใช้บริการมากกว่า 60-70%
แต่ปรากฏว่าหลังเกิดเหตุการณ์พบผู้ติดเชื้อในจังหวัดทำให้การเข้าพักลดลงเหลือเพียงประมาณ 30% คาดว่าก่อให้เกิดความเสียหายในช่วงตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงวันที่ 7 ธ.ค.นี้ กว่า 20 ล้านบาท เมื่อพิจารณาแล้วว่าผลกระทบดังกล่าวมีต้นเหตุมาจากเรื่องใด ก็ทราบว่าเกิดจากผู้ที่ลักลอบหลบหนีเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติที่ชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.แม่สาย นั่นเอง
ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงมีแนวคิดว่าต้องหามาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อจัดการกับคนกลุ่มนี้ เบื้องต้นจะหารือกับทนายอาสาเพื่อปรึกษาด้านข้อกฎหมายและรายละเอียดต่างๆ ว่าจะมีช่องทางในการฟ้องร้องคนเหล่านี้ได้อย่างไรหรือไม่ ยืนยันว่าหากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจะฟ้องเฉพาะบุคคลที่หลบหนีเข้ามาทางชายแดนแล้วนำเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปติดต่อกับคนภายในเท่านั้น ส่วนคนที่เดินทางกลับประเทศผ่านด่านถาวรสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 ตามปกติไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม จะได้แจงรายละเอียดอีกครั้งเพราะผู้ประกอบการก็ยังมั่นใจในการทำงานของคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงราย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีความเข้มแข็งในการป้องกันการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี จึงเชื่อว่าการท่องเที่ยวของเชียงรายจะกลับมาคึกคักในอนาคตอันใกล้อีกครั้ง
ด้านนางนงเยาว์ เนตรประสิทธิ์ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.เชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนเคยมีข้อเสนอไปยังรัฐบาลแล้ว แต่เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนการหารือครั้งนี้จะเน้นเชิงรุก โดยเฉพาะการกำหนดให้มีการใช้มาตรฐาน SHA เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในเชียงราย เข้าร่วมมาตรฐานนี้กว่า 60-70% แต่ส่วนใหญ่เป็นกิจการโรงแรม ที่พัก รีสอร์ต ฯลฯ เสียมากกว่า
ดังนั้นจึงจะพยายามขยายผลไปยังกิจการอื่นๆ เช่น สถานบันเทิง ฯลฯ โดยจัดโต๊ะแบบคลินิกเคลื่อนที่เพื่อเชิญชวนลงทะเบียน มีคณะทำงานไปตรวจสถานที่ ฯลฯ เพื่อลดขั้นตอนในอดีตที่ทำให้เกิดความล่าช้า จากนั้นเมื่อผ่านมาตรฐานก็จะได้รับประกาศนียบัตร SHA ซึ่งก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวได้ต่อไป
ส่วนมาตรการอื่นๆ ก็คงจะเป็นการพยายามจัดการกับข่าวสารโดยเฉพาะข่าวลือต่างๆ ที่เข้ามาซ้ำเติม ซึ่งที่ผ่านมาทางผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย และคณะก็ได้ดำเนินการให้แล้วอย่างเต็มที่แล้ว