xs
xsm
sm
md
lg

อวดโฉมแล้ว! “พิศวงตานกฮูก-อุ้มผาง” น่ารัก-เหมือนนกฮูกเป๊ะสมชื่อ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตาก/พะเยา - “พิศวงตานกฮูก” พันธุ์ไม้ใหม่ที่นักวิจัย ม.พะเยา-ช่างภาพอิสระค้นพบบนดอยอุ้มผาง อวดโฉมแล้วปลายฝนนี้ ผู้วิจัยฯ เผยหน้าตาเหมือน “นกฮูก” เป๊ะ


ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ธานินทร์ เรารักอุ้มผาง” ได้โพสต์ภาพพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ในสกุล "พิศวง" ที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายนกฮูก จนเรียกกันว่า "พิศวงตานกฮูก" หรือ "พิศวงไทยทอง" ซึ่งมีรายงานการค้นพบเฉพาะ อ.อุ้มผาง จ.ตาก เพียงแห่งเดียวเท่านั้น อวดโฉมให้เห็นในช่วงปลายฝนต้นหนาว เดือนกันยายน-ตุลาคม บริเวณดอยหัวหมด จุดชมทะเลหมอกที่สวยงามที่สุดใน อ.อุ้มผาง

นายธานินทร์ ใจดี ผู้โพสต์ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ระบุด้วยว่า อ.อุ้มผาง นอกจากจะมีทะเลหมอกและความงดงามทางธรรมชาติแล้ว ยังเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายของพืชพรรณต่างๆ สำหรับ “พิศวงตานกฮูก” มักขึ้นอยู่บนภูเขาหินปูน มีขนาดเล็กมาก ต้องคอยสังเกตให้ดีจะอยู่ใต้ใบไม้ต่างๆ เล็กเทียบเท่ากันได้กับเม็ดถั่วเขียวเท่านั้น


ด้าน ดร.กนกอร ศรีม่วง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพะเยา ผู้ค้นพบ “พิศวงตานกฮูก” ร่วมกับนายสุชาติ จันทร์หอมหวล ช่างภาพอิสระ ระบุว่า ตอนแรกยังไม่ทราบว่าเป็นพืชชนิดใด จึงเก็บตัวอย่างและบันทึกภาพ ส่งให้ รศ.ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตรวจสอบ จนกระทั่งทราบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของไทย พิศวงตานกฮูก ที่มีชื่อสามัญเรียกว่า พิศวงไทยทอง และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thismia thaithongiana ซึ่งพิศวงไทยทองนี้เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กเท่าหัวไม้ขีด ที่จะออกดอกในช่วงปลายฝนเท่านั้น

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพะเยากล่าวว่า พิศวงตัวนี้จริงๆ ชื่อ “พิศวงไทยทอง” ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ ดร.อบฉันท์ ไทยทอง ปูชนียบุคคลของวงการพรรณไม้ของไทย แต่ด้วยหน้าตาของพืชชนิดนี้ เวลาถ่ายรูปออกมาละม้ายคล้ายกับนกฮูก จึงถูกเรียกว่า “พิศวงตานกฮูก” ไปโดยปริยาย


พืชชนิดนี้เป็นพืชที่มีความสัมพันธ์กับเชื้อราในดิน และมีระบบนิเวศหรือการดำรงชีวิตอย่างสลับซับซ้อนกับพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ หรือความสมดุลของป่าแห่งนี้ ซึ่งในอนาคตหากมีโอกาส ก็อยากจะศึกษานิเวศวิทยาของพืชชนิดนี้ว่ามีความเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ อย่างไร เนื่องจากยังขาดข้อมูลทางด้านวิชาการ รวมไปถึงพิศวงตัวอื่นๆ ในสกุลนี้ด้วย ซึ่งความสัมพันธ์กับพืชชนิดอื่นอาจจะซ่อนอยู่ในพืชชนิดนี้ ที่ยังคงทำให้เราแปลกใจ ประหลาดใจ และเป็นปริศนาสมดังชื่อประจำสกุล “พิศวง”

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบในพิศวงตานกฮูก หากมีโอกาสอยากให้ไปเยี่ยมชมสักครั้ง เพราะพืชชนิดนี้ขึ้นมาเฉพาะช่วงปลายฤดูฝนเท่านั้น ฤดูอื่นจะทำการพักตัวเนื่องจากสภาพอากาศไม่เหมาะสม


ทั้งนี้ เพจเฟซบุ๊กของสมาคมพฤกษศาสตร์ในพระบรมราชินูปถัมภ์เคยโพสต์เรื่องราวสุดน่ารัก บอกเล่าถึง “พิศวงตานกฮูก” พันธุ์ไม้ชนิดใหม่นี้ว่า จัดอยู่ในกลุ่ม "พืชล้มลุกอาศัยรา" ดอกบานช่วงปลายฤดูฝน ค้นพบที่ดอยหัวหมด อ.อุ้มผาง จ.ตาก โดย ดร.กนกอร ศรีม่วง จากมหาวิทยาลัยพะเยา และนายสุชาติ จันทร์หอมหวล จากตูกะสู คอทเทจ อุ้มผาง และได้ประสานงานให้ผู้เชี่ยวชาญพืชสกุล "พิศวง" นี้ในประเทศไทยคือ รศ.ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตรวจสอบ พบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ ตามด้วยการติดตามเก็บตัวอย่างต้นแบบจากผู้เชี่ยวชาญจากหอพรรณไม้ กรมอุทยานฯ ดร.สมราน สุดดี
กำลังโหลดความคิดเห็น