xs
xsm
sm
md
lg

อุบลฯ ยังเข้มป้องกันแรงงานเถื่อนเข้าเมืองสกัดนำเชื้อโควิด-19 ระบาดซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุบลราชธานี - จ.อุบลราชธานีวางกำลังผสมพร้อมร่วมชุมชนตามริมแม่น้ำโขงหลายร้อยกิโลเมตรป้องกันการลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจเป็นพาหะนำไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดใหม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไม่พบการลักลอบนำเข้าแรงงานเพราะไม่ได้เป็นพื้นที่หลัก

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยถึงมาตรการเข้มงวดตามแนวชายแดนไทยและกัมพูชาด้านจังหวัดอุบลราชธานี มีการวางกำลังผสมตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครองกว่า 400 กิโลเมตรตลอดแนวชายแดน โดยกำลังทั้งหมดเป็นการวางกำลังที่มีภารกิจหลักคือปราบปรามการลักลอบนำเข้ายาเสพติด และสิ่งของผิดกฎหมายอื่นๆ จากประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ปรับเพิ่มให้กองกำลังที่วางไว้ตามแนวชายแดนดูแลการลักลอบนำแรงงานเถื่อนผ่านตามช่องทางธรรมชาติ

เนื่องจากปัจจุบันมีการอนุญาตให้ผ่านเข้าออกได้เพียงด่านพรมแดนสากลไทย-ลาว ช่องเม็ก อ.สิรินธร ซึ่งอนุญาตให้ส่งออกและนำเข้าเฉพาะสินค้าที่จำเป็น และคนป่วยที่เข้ารับการรักษาในประเทศ แต่ต้องผ่านการตรวจมาจากประเทศต้นทางและจากสถานพยาบาลในประเทศไทย ตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรค


ส่วนแรงงานเดิมที่อยู่กับสถานประกอบการ ก็ต้องรับการตรวจดูแลจากสถานประกอบการร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และต้องอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด จะออกนอกเขตไม่ได้ ส่วนแรงงานใหม่ยังไม่อนุญาตให้เข้ามา ทำให้ตั้งแต่มีการปิดด่านเมื่อเดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่พบมีการลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อนตามแนวชายแดนด้านนี้แต่อย่างใด

เพราะเมื่อมีการปิดจุดผ่อนปรน ด่านประเพณี นอกจากมีกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลเป็นหลักอยู่แล้ว ชุมชนตามจุดจอดเรือตามแม่น้ำโขงยังร่วมกับ อสม.คอยตรวจตราบุคคลจากนอกชุมชนไม่ให้เดินทางข้ามแดนเข้ามาอย่างเข้มงวดตามนโยบายคณะกรรมการควบคุมโรคระบาด

นายสฤษดิ์ยังกล่าวต่อว่า แม้จังหวัดอุบลราชธานีไม่ใช่จังหวัดเป้าหมายในการลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อนเหมือนชายแดนด้านอื่นของประเทศไทย แต่ก็ไม่นิ่งนอนใจ มีการเข้มงวดตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ป้องกันไม่ให้ผู้ไม่ผ่านตรวจเข้ามาในประเทศ เพื่อไม่ให้ไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดในพื้นที่อีกครั้ง


สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ตรวจพบผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อกลางเดือนมีนาคม และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จในเดือนพฤษภาคม รวมมีผู้ป่วยทั้งสิ้น 15 คน โดยเป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่

ปัจจุบันจังหวัดอุบลฯ ยังเปิดใช้สถานกักกันตัวคนไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศเพื่อนบ้าน และที่ผ่านมายังไม่พบมีผู้ติดเชื้อเพิ่มในขณะนี้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น