อุดรธานี - สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ทรงเป็นประธานยกยอดฉัตรทองคำ หนัก 98 กิโลกรัม ประดิษฐานบนยอดพระเจดีย์พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระมหาบัวญาณสัมปันโน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระธรรมวิสุทธิมงคล อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด
วันนี้ (12 ส.ค.)เวลา 16.11 น. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี องค์ประธานโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคลหลวงตาพระมหาบัวญาณสัสมปันโน เสด็จไปยังวัดเกษรศีลคุณ หรือวัดป่าบ้านตาด อ.เมืองอุดรธานี ทรงเป็นประธานยกยอดฉัตรทองคำประดิษฐานบนยอดพระเจดีย์พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคลพระมหาบัวญาณสัมปันโน ทั้งนี้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระธรรมวิสุทธิมงคล อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด
อีกทั้งเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2563 ในการนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ องค์ประธานคณะผู้ออกแบบโครงการเฝ้าฯ รับเสด็จ
สำหรับยอดทองคำ พระอาจารย์ถวาย สันตุสสโก เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย และรักษาการเจ้าอาวาสวัดถ้ำกลองเพล พร้อมคณะศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชน ร่วมกันบริจาคทองคำและปัจจัยในการก่อสร้างขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานและถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระธรรมวิสุทธิมงคล
โดยยอดฉัตรหล่อด้วยทองคำ มีน้ำหนัก 98 กิโลกรัม เท่ากับอายุของพระธรรมวิสุทธิมงคล
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี เสด็จทรงประกอบพิธีเททองหล่อ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2561 พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ
นอกจากนี้ยังนำทองคำที่เหลือจากการบริจาคไปเททองหล่อฉัตรทองคำชั้นที่ 1 และเททองคำเคลือบส่วนปลียอดฉัตร รวมน้ำหนักทั้งยอดฉัตร ฉัตรทองคำชั้นที่ 1 และส่วนเคลือบปลียอดฉัตร ทั้งสิ้น 225 กิโลกรัม
โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคลหลวงตาพระมหาบัวญาณสัมปันโน คณะศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาสร่วมกันจัดทำขึ้น ภายหลังจากพระธรรมวิสุทธิมงคลละสังขาร เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2554 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานและแสดงความกตัญญูกตเวทิตาที่เป็นถูปารหบุคคล ผู้สร้างคุณูปการให้แก่ประเทศชาติและพระพุทธศาสนา
การก่อสร้างประกอบด้วย พระเจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุพระธรรมวิสุทธิมงคล ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมไทยศิลปะล้านช้างผสมผสานกับศิลปะยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ถึงต้นรัชกาลที่ 10 สะท้อนให้เห็นถึงการสืบทอดพระพุทธศาสนาในถิ่นอีสานที่ยังดำรงมั่นคงรุ่งเรือง พิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมเครื่องอัฐบริขารหนังสือและคำสอนของพระธรรมวิสุทธิมงคลและพระวิหารซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างก้าวหน้า 85 เปอร์เซ็นต์ โดยจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564