กรมปศุสัตว์ เอือม ข่าวปลอมปี 2551 "หมู-ไก่ เป็นเอดส์" วนแชร์ซ้ำทุกปี เกษตรกรหมูแฉผู้ไม่หวังดีปล่อยข่าว หวังสร้างความวิตกให้ผู้บริโภค ขอรัฐหาตัวไอ้โม่งลงโทษตาม กม.
จากกรณีที่ในโลกโซเชียลโดยเฉพาะในเฟซบุ๊ก (Facebook) และไลน์ (Line) มีการส่งต่อข้อความ "หมู-ไก่ เป็นโรคเอดส์ ห้ามทานเนื้อสัตว์ 6 เดือน" สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ผู้ที่ได้รับจนเกิดการแชร์ข้อความต่อเป็นวงกว้าง
เรื่องนี้ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจงว่า เป็นข่าวปลอมที่กลุ่มผู้ไม่หวังดีที่มุ่งทำลายภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2551 โดยมีการแต่งเติมเพิ่มข้อความเท็จเข้าไปอีก แล้วนำมาวนแชร์กันทุกปีตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ออกให้ข้อมูลที่ถูกต้องในทุกครั้ง ตลอดจนมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่ที่มีการกล่าวอ้าง ก็ยังไม่เคยพบโรคดังกล่าว ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่โพสต์และแชร์ข่าวปลอมที่สร้างความหวั่นวิตกแก่ประชาชน เนื่องจากมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มีโทษหนัก จำคุก 2 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และสามารถแจ้งเบาะแสผู้กระทำผิดได้ที่ Application "DLD4.0" เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ด้าน น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า การปล่อยข่าวลวงครั้งนี้ คาดว่าจะเกิดจากขบวนการปั่นป่วนอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะในช่วงที่ทุกภาคส่วนกำลังร่วมกันแก้ปัญหาราคาเนื้อสุกร เพื่อหวังให้ผู้บริโภคเกิดความวิตกกังวลจนเลิกบริโภคเนื้อหมู ทำให้ราคาหมูตกลงอีก คนกลุ่มนี้ถือเป็นผู้ไม่หวังดี และจ้องปล่อยข่าวลวงเพื่อทำลายอุตสาหกรรมหมู ขณะที่จากประวัติการตรวจโรคทุกพื้นที่ที่มีการเลี้ยงหมูทั่วไทย ไม่เคยพบโรคนี้ตั้งแต่เริ่มเลี้ยงหมูมาเป็น 100 ปี ตั้งแต่ปี 2461 เป็นต้นมา
ที่สำคัญประเทศไทยยังประสบความสำเร็จสามารถป้องกันโรค ASF ได้เป็นเวลาเกือบ 2 ปี นับเป็นความสำเร็จระดับภูมิภาค ช่วยปกป้องอุตสาหกรรมหมูของไทยมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท และยังเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้เนื้อหมูที่ปลอดภัย และไม่ต้องประสบภาวะขาดแคลนเนื้อหมูดังเช่นประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ปริมาณหมูเสียหายจากโรคนี้ จนทำให้ราคาหมูเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
“เกษตรกรคนเลี้ยงหมูทั่วประเทศขอให้ภาครัฐ ทั้งกรมปศุสัตว์ และกระทรวงดิจิทัลเร่งหาตัวไอ้โม่งมาลงโทษตามกฎหมาย เพื่อให้ข่าวปลอมนี้หมดไปจากประเทศและไม่กลับมาทำลายอุตสาหกรรมหมูอีกต่อไป เนื่องจากการแชร์ข่าวปลอมนี้สร้างความหวั่นวิตกแก่ประชาชนอย่างมาก ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่เป็นความจริงแต่ก็ยังจงใจส่งต่อ และยังพบว่ามีการแชร์ต่อเรื่องนี้ทุกปี” น.สพ.วิวัฒน์ กล่าว