xs
xsm
sm
md
lg

“แก้วเก็บพลังงานสะอาด” คว้ารางวัล Gold Award ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ปี 63

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครราชสีมา - สุดยอดงานวิจัย นักวิทย์ซินโครตรอน จ.นครราชสีมา คว้ารางวัล Gold Award ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ปี 2563 จากนายกรัฐมนตรี” ในงานวิจัย “แก้วขั้นสูงสำหรับประยุกต์ใช้กักเก็บพลังงานสะอาดแห่งอนาคต”

ดร.พินิจ กิจขุนทด นักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา
นักวิทย์ซินโครตรอน คว้ารางวัล Gold Award ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2563 จากนายกรัฐมนตรี ดร.พินิจ กิจขุนทด นักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน คว้ารางวัลใหญ่ Thailand Research Expo 2020 Award ประเภท Gold Award ถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2563 (Thailand Research Expo 2020) ในผลงาน “แก้วขั้นสูงสำหรับการประยุกต์ใช้กักเก็บพลังงานสะอาดแห่งอนาคต”

ดร.พินิจ กิจขุนทด นักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา กล่าวว่า “งานวิจัยแก้วขั้นสูงสำหรับการประยุกต์ใช้กักเก็บพลังงานสะอาดแห่งอนาคตนี้ เกิดจากการคิดค้นและพัฒนาวัสดุแก้ววานาเดตบอเรตให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมในการใช้เป็นขั้วแคโทดสำหรับแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน แม้แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนที่ใช้งานในปัจจุบันจะมีข้อดีหลายประการ อาทิ สามารถประจุไฟฟ้าให้เต็มแล้วนำกลับใช้ซ้ำได้ (Rechargeable) มีน้ำหนักเบา พกพาสะดวก และมีความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ

อย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่ชนิดนี้ยังมีจำนวนรอบการใช้งานที่ต่ำ มีข้อจำกัด หากต้องการใช้กระแสไฟฟ้าในปริมาณมาก นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจึงมุ่งเน้นพัฒนาวัสดุสำหรับประกอบเป็นแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนให้มีประสิทธิภาพ ความจุไฟฟ้าและความปลอดภัยสูงขึ้น

ทีมนักวิจัยสถาบันฯ ได้ทำการสังเคราะห์แก้วแมงกานีสลิเทียมบอเรต ที่มีลักษณะแข็ง ทึบ มีความวาวเล็กน้อย และมีการกระจายตัวของธาตุออกซิเจน โบรอน แมงกานีส และลิเทียม กระจายอยู่ทั่วทั้งวัสดุแก้ว และเมื่อทดสอบโครงสร้างเชิงลึกในระดับอะตอมของแก้ว โดยเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ด้วยแสงซินโครตรอน พบว่าแก้วแมงกานีสลิเทียมบอเรตชนิดนี้มีคุณสมบัติเหมาะสม สามารถนำไปต่อยอดเพื่อประยุกต์ใช้เป็นวัสดุขั้วแคโทดสำหรับแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนต่อไปได้ในอนาคต




ข้อดีของแก้วชนิดนี้ คือ มีความทนทานต่อการกัดกร่อนจากสารละลายอิเล็กโทรไลต์ที่อยู่ในแบตเตอรี่ ทำให้เพิ่มรอบการใช้งานได้มากขึ้น อีกทั้งแก้วเป็นวัสดุที่ทนต่อความร้อนได้ดีจึงสามารถนำเอาแบตเตอรี่ชนิดนี้ไปใช้ในงานอุตสาหกรรมที่ทนความร้อนสูงได้ นอกจากนี้งานวิจัยดังกล่าวยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิจัยระดับนานาชาติและได้มีการยื่นเสนอขออนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์เรียบร้อยอีกด้วย

สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณารางวัลนี้ ประกอบด้วยแนวคิดและความคิดสร้างสรรค์ของผลงาน รวมถึงวิธีการผลิตผลงาน การนำไปขยายผลการใช้ประโยชน์ทั้งในมิติเชิงวิชาการในระดับชาติและนานาชาติ ด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาชุมชม ตลอดจนการต่อยอดขยายผลให้มีคุณค่าเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น