ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบังการ์ดไม่ตก วางมาตรการเข้มรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 กำชับเจ้าหน้าที่ดำเนินการอย่างเข้มงวด เผยมีกระทบบ้างในเรื่องของรายได้ เพราะหลายประเทศมีการปิดประเทศ ทำให้ปริมาณตู้สินค้าลดลง คาดว่าเร็วๆ นี้สถานการณ์จะดีขึ้น
ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า เป็นสถานการณ์ที่ประชาชนชาวไทยรับทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ซึ่งที่ผ่านมา ทางการท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีมาตรการในการดำเนินการในการเฝ้าระวัง และป้องกันในเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังได้รับผลกระทบใน 2 สถานะ คือ เป็นช่องทางการเข้าออกของประเทศทางน้ำ และ เป็นช่องทางขนส่งตู้สินค้าเข้าออกของประเทศ ซึ่งก็ได้รับผลกระทบโดยรวมตามสภาวะเศรษฐกิจอยู่แล้ว
สำหรับท่าเรือแหลมฉบังนั้น เป็นเส้นทางการเข้าออกของประเทศทางน้ำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งในช่วงนี้มีเรือเข้าเทียบท่าวันละประมาณ 40-50 ลำ โดยมีลูกเรือที่ต้องตรวจสอบวันละประมาณ 100-300 คน และจะมีการคัดกรองจากหมอ ที่ด่านกักกันโรค ที่ 5 จังหวัดชลบุรี เป็นการเฉพาะ ขอให้ประชาชนที่อยู่โดยรอบท่าเรือไม่ต้องเป็นห่วงหรือหวั่นวิตก เจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างเข้มงวด และเป็นไปตามแผนงานที่เคยปฏิบัติไว้ โดยขอยืนยันว่าท่าเรือแหลมฉบังสามารถรับมือกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ได้ 100%
นอกจากนั้นที่ผ่านมา ท่าเรือแหลมฉบังยังไม่อนุญาตให้เรือท่องเที่ยว หรือเรือสำราญ เข้ามาเทียบท่า ตั้งแต่เริ่มมีสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ถึงแม้จะทำให้ท่าเรือขาดรายได้ก็ตาม แต่ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ร.ต.ต.มนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับผลกระทบด้านตู้สินค้านั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติ หลังจากที่หลายประเทศมีการปิดประเทศ ทำให้ปริมาณตู้สินค้าลดลง แต่อย่างไรก็ตามอยู่ในสถานการณ์ที่ยอมรับได้ และคาดว่าในปีนี้จำนวนตู้ลดลงประมาณ 3-4% ของภาพรวม ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ทั่วไปของโลก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าผ่านท่าเรืออย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจาก และยังมีความจำเป็นต้องมีการตระเตรียมสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับการขนส่งในอนาคต จึงยังคงนโยบายเร่งพัฒนาโครงการระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้านทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับรองรับเรือขนาดใหญ่ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก