ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - นักวิชาการชี้สาหร่ายเขียวลอยเป็นแพในแม่น้ำปิงผ่านเมืองเชียงใหม่ ปรากฏการณ์ปกติเกิดได้ช่วงแล้งต่อฝน เหตุมีสารอาหารเยอะบวกแดดจัดและน้ำนิ่ง คาดเมื่อน้ำไหลปกติทุกอย่างคลี่คลาย รับเป็นตัวบ่งชี้เสี่ยงปัญหาระบบนิเวศ
จากกรณีที่ช่วงสัปดาห์ที่แล้วประชาชนจำนวนมากต่างแสดงความเป็นห่วงและวิตกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพน้ำและระบบนิเวศในแม่น้ำปิงช่วงที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่พื้นที่ตำบลสันผีเสื้อ ต่อเนื่องไปจนถึงตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากพบว่ามีสาหร่ายสีเขียวลอยปกคลุมหนาอยู่ทั่วบนผิวน้ำที่แทบจะนิ่งสนิท โดยเฉพาะช่วงที่แม่น้ำปิงผ่านกลางเมืองเชียงใหม่พบว่ามีสาหร่ายสีเขียวดังกล่าวลอยปกคลุมต่อเนื่องกันบนผิวน้ำ ตั้งแต่บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่, สะพานนครพิงค์, สะพานนวรัฐ ไปจนถึงสะพานเหล็ก
ทั้งนี้ แม้ว่าเบื้องต้นสาหร่ายดังกล่าวจะยังไม่ส่งกลิ่นเน่าเหม็นและยังไม่ปรากฏว่ามีปลาหรือสัตว์น้ำลอยตาย แต่ประชาชนที่พบเห็นต่างบอกตรงกันว่าเป็นทัศนะอุจาด เพราะแม่น้ำปิงถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่และเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คน โดยแม้ว่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาสาหร่ายดังกล่าวจะลดจำนวนลงเนื่องจากมีฝนตกลงมาและมีการเปิดประตูระบายน้ำ แต่ยังมีความน่าเป็นห่วงว่าหากปล่อยไว้เกรงว่าอาจจะเกิดปัญหาที่รุนแรงกว่าเดิม จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและแก้ไขปัญหา
อาจารย์ ดร.ทัตพร คุณประดิษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า สาหร่ายที่เกิดขึ้นจำนวนมากและลอยเป็นแพในแม่น้ำปิงตามที่เห็นกันนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่ในทางวิชาการเรียกว่า ปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชัน (Eutrophication) หรือทั่วไปเรียกว่าสาหร่ายบลูม เกิดจากการที่ในน้ำมีสารอินทรีย์ที่เป็นอาหารของสาหร่ายเป็นจำนวนมาก ทั้งจากการที่ฝนตกแล้วชะล้างลงมาและการปล่อยของเสีย ประกอบกับช่วงนี้มีแสงแดดจัด และน้ำนิ่ง ทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องปกติที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งต่อฤดูฝน เพียงแต่ว่าในกรณีนี้เกิดขึ้นมากผิดปกติ เพราะน้ำนิ่งจากการกักน้ำ แต่หากน้ำไหลก็จะไม่มีการสะสม และตามระบบปกติในธรรมชาตินั้นสาหร่ายเหล่านี้ก็จะเป็นอาหารของปลา ซึ่งจะทำให้ถูกกำจัดออกไปตามห่วงโซ่อาหารอยู่แล้ว
สำหรับสาหร่ายชนิดดังกล่าวนี้ เบื้องต้นเชื่อว่าไม่น่าจะมีพิษเพราะทั่วไปแล้วสาหร่ายในระบบนิเวศน้ำไหลอย่างแม่น้ำนั้นไม่มีพิษและเป็นอาหารของปลา รวมทั้งไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการที่มีจำนวนมากเกินไปทำให้เกิดภาพที่ไม่สวยงามส่งผลต่อทัศนียภาพ และหากปล่อยไว้โดยที่ไม่มีการเฝ้าระวัง, บำบัดหรือควบคุมอาจจะก่อให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นในแหล่งน้ำได้ ซึ่งในช่วงกลางวันนั้นไม่มีปัญหาเพราะสาหร่ายสังเคราะห์แสงผลิตออกซิเจนได้ แต่ในช่วงกลางคืนสาหร่ายสังเคราะห์แสงไม่ได้แต่ต้องใช้ออกซิเจนด้วย ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดน้อยลงและต้องแย่งกันใช้ทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ขาดออกซิเจนจนตายลงไป ทั้งนี้ หากเกิดต่อเนื่องยาวนานอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียได้ แต่ในกรณีของแม่น้ำปิง เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่หน้าฝนและน้ำไหลแล้วสาหร่ายเหล่านี้ก็จะค่อยๆ หมดไป
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ บอกว่า แม้เชื่อว่ากรณีนี้ยังไม่เป็นปัญหารุนแรงขั้นวิกฤต แต่ยอมรับว่าสะท้อนให้เห็นเช่นกันว่าแม่น้ำปิงมีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหารุนแรงขึ้นได้เพราะมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหา เช่น อาจจะมีการปล่อยของเสียลงสู่แม่น้ำปิง ซึ่งประชาชนและผู้ประกอบการควรให้ความตระหนักและช่วงกันป้องกันหรือลดความเสี่ยง นอกจากนี้ยังบ่งบอกว่าในแม่น้ำปิงมีปลาหรือสัตว์น้ำขนาดใหญ่ลดลง และเหลือแต่ปลาเล็ก ทำให้สาหร่ายเจริญและขยายพันธุ์จำนวนมาก แทนที่จะถูกกำจัดไปตามระบบห่วงโซ่อาหาร ขณะเดียวกัน จากการที่ในแม่น้ำปิงมีประตูระบายน้ำและกักน้ำด้วยเหตุผลความจำเป็นต่างๆ อาจต้องมีการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการกักเก็บและบริหารจัดการน้ำให้เกิดความสมดุล
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์พันธุ์ ลีฬหเกรียงไกร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยทั่วไปปรากฏการณ์นี้จะเกิดในแหล่งน้ำนิ่ง เบื้องต้นเชื่อว่าปัญหานี้แก้ไขได้เพียงรอน้ำใหม่ไหลมาระบายชะล้างสาหร่ายที่เกิดขึ้นนี้ให้ไหลไปตามระบบเจือจาง ขณะเดียวกันไม่ต้องเป็นห่วงว่าสาหร่ายชนิดนี้จะเป็นอันตรายต่อคน เพราะไม่น่าจะใช่สาหร่ายพิษเนื่องจากเป็นสาหร่ายในระบบนิเวศน้ำไหลที่ปกติมักจะเป็นสาหร่ายชนิดที่เป็นอาหารของปลา โดยปรากฏการณ์นี้คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในคูเมืองเชียงใหม่ ที่น้ำนิ่งประกอบกับมีสารอาหารและแสงแดดดีทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้เร็ว แต่ในกรณีแม่น้ำปิงดีกว่าคูเมืองเชียงใหม่เพราะเป็นแม่น้ำที่เป็นระบบนิเวศน้ำไหล เมื่อน้ำไหลตามปกติแล้วสาหร่ายก็จะหายไป ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นนี้มองว่าควรจะเป็นสิ่งสะท้อนและกระตุ้นทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักว่าการปล่อยน้ำเสียหรือการใช้น้ำผิดประเภทก่อให้เกิดปัญหาตามมา ส่วนเรื่องการบริหารจัดการเปิดปิดประตูน้ำนั้น ต้องให้หน่วยงานรับผิดชอบพิจารณาอย่างเหมาะสมต่อไปเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวด้วย