xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “ครูชาขิมทศกัณฑ์” คนว่าบ้าก็ยอม..สะสมพระสมเด็จฯ ทั้งเก่า-ใหม่นับหมื่นองค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษณุโลก - บ้าก็ยอม.. “ครูชาขิมทศกัณฑ์” เปิดใจหลังสะสมพระสมเด็จฯ ทั้งเก่า-ใหม่นับหมื่นองค์ ย้อนยุคตามกระแสเซียน รวมถึง “พระเรืองแสง” เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ยันไม่ขายพระกิน


หลังนายทัศนัย กุลสุวรรณ หรือครูชา เจ้าของพิพิธภัณฑ์พระสมเด็จโต พรหมรังสี ที่เลื่อมใสและสะสม “สมเด็จพระพุฒาจารย์โต” ไว้นับหมื่นๆ องค์ จนเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์พระสมเด็จพรหมรังสี ณ บ้านเลขที่ 95/6 ถนนสิงหวัฒน์ ต.ในเมือง อ.เมืองพิษณุโลก ออกมาเปิดเผยถึง “พระสมเด็จ-เรืองแสง” ที่ไม่มีในท้องตลาด ที่พร้อมให้พิสูจน์

ครูชาเปิดเผยเรื่องราวก่อนที่จะมาเป็น “พิพิธภัณฑ์พระสมเด็จโต พรหมรังสี” ว่า ตนอายุ 53 ปี เป็นคนพิษณุโลก จบมัธยมโรงเรียนพุทธชินราช ไม่ได้เรียนต่อ แต่เพราะชอบดนตรีจึงหันมาเป็นนักดนตรีเลี้ยงชีพ เริ่มจากเล่นดนตรีกลางคืนตามโรงแรมกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนกลางวันก็สอนเด็กหรือประชาชนทั่วไปที่มีใจรักในด้านดนตรี เช่น เปียโน กีตาร์ เบส กลอง และเครื่องดนตรีไทยทั้งขิม และขลุ่ย ฯลฯ เป็นครูสอนดนตรีเต็มตัว จนได้ใบประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการ อีกทั้งมีชื่อเสียงออกรายการทีวี รับโล่รับถ้วยมากมาย


แต่คนรู้กันในนามเดิมคือ นายคชา กุลสุวรรณ (ครูชา ขิมทศกัณฑ์ ) เจ้าของ “โรงเรียนดนตรีสากลจังหวัดพิษณุโลก” สร้างผลงานโดยเฉพาะขลุ่ย ซึ่งตนได้อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” เป่าเดี่ยวขลุ่ยบทเพลงแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ 20 ตุลาคม 2559 ที่ห้องโถง ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก สมัยนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ เป็นผู้ว่าฯ พิษณุโลก พร้อมกลุ่มนักดนตรีในพิษณุโลกร่วมขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีอีกด้วย

ครูชาบอกว่า ช่วงที่เป็นครูสอนดนตรีมีเงินทองไหลมา ชื่อเสียงโด่งดัง ก็เริ่มซื้อพระสมเด็จและมีคนนิยมชมชอบตนหยิบยื่นพระสมเด็จฯ ให้ ซึ่งช่วงนั้นก็ไม่ได้สนใจ เก็บพระเข้าโกดังอย่างเดียว กระทั่งจุดหนึ่ง ประมาณปี 53-54 ก็เริ่มศึกษา แต่ยืนยันไม่ใช่เซียนพระที่ชอบเช่าพระขายพระกิน เพราะตนได้รู้จักกับนายทหารท่านหนึ่งที่ให้พระสมเด็จฯ องค์แรกมา บอกว่า..มันบาป อย่าไปขายพระ


“นับแต่นั้นมาก็เลื่อมใสพระสมเด็จพุฒาจารย์โต เพราะเห็นพุทธคุณ แคล้วคลาดผ่านสิ่งร้ายๆ จึงตั้งใจสะสมพระพิมพ์พระสมเด็จทั้งของเก่าและใหม่เข้าพิพิธภัณฑ์ ไม่มีความคิดที่จะปล่อยพระหรือขายไป พระพิมพ์สมเด็จอายุนับร้อยกว่าปีที่ได้ครอบครองคงไม่ปล่อยหรือขายพระไปให้ใคร แม้ช่วงนี้ชีวิตจะตกอับอย่างไรก็ตามก็ไม่คิดว่าขายพระแล้วจะรวย จึงตั้งใจเก็บไว้ให้ลูกหลานศึกษาดีกว่า”

สำหรับ “พระสมเด็จโต พรหมรังสี” แห่งนี้ ครูชาบอกว่าได้ใช้เงินก้อนแรก 5,000 บาทที่ไปหยิบยืมคนอื่นเขามาสร้าง ณ วันนี้ยอมรับว่าชีวิตสงบสุข นั่งสวดมนต์ พอมีกินมีใช้บ้าง ก็มีพระสมเด็จนับหมื่นองค์อยู่

นายทัศนัย กุลสุวรรณ หรือครูชา บอกอีกว่า คนส่วนใหญ่มักพูดว่า..พระสมเด็จฯ องค์เป็นสิบๆ ล้าน ซึ่งนั่นเป็นการเปิดราคาสูงไว้ก่อน เป็นไปตามความเหมาะสมของช่วงเวลาและสถานที่ หากเปิดราคาขายกับคนที่ไม่รู้จักหรือไม่ใช่คนเล่นพระจริงๆ ก็ถูกตำหนิได้ ทั้งๆ ที่พระองค์เดียวกันแต่ราคาไม่เหมือนกัน


ว่ากันถึงพระสมเด็จฯ ต้องดูเนื้ออย่างเดียวเนื่องจากมีหลายพิมพ์ พระสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี จำพรรษาหรืออยู่มาหลายวัด หลายจังหวัด และทุกวัดก็ได้สร้างพระประธานรูปทรงสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก และน้อยมากที่เห็นการสร้างรูปเหมือน “สมเด็จพระพุฒาจารย์โต” เนื่องจากสมเด็จฯ โตต้องการสร้างเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ดังนั้นจะมีพระพิมพ์สมเด็จออกมาจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีพระปลอมเกิดขึ้นนับไม่ถ้วน

“สำหรับพระสมเด็จฯ ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ต้องบอกว่าทำมาจากวัดทุกองค์ เพียงแต่เป็นพระใหม่ ผสมกับพระเก่าเท่านั้น ส่วนสมเด็จฯ ที่มีแสงของผมนั้นเป็นหนึ่งในล้านองค์ ซึ่งผมก็เพิ่งเห็นสิ่งมหัศจรรย์เรืองแสงเมื่อปีที่แล้ว ส่วนราคานั้นแทบประเมินไม่ได้ แต่ถ้าให้เซียนพระทั่วไปดูเขามักบอกว่า..ผมบ้า ก็ต้องยอม”


ณ วันนี้ตนมีพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ที่ได้ประกาศณียบัตร รับรางวัลที่ 1 ถามว่าถ้าจะขายหรือปล่อยเช่าก็ต้องหลักล้านขึ้นไป แต่ตนไม่จำเป็นต้องขาย และก็ยังมีพระสมเด็จที่หายากสร้างสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งด้านหลังยังระบุปี 2411 แต่ยอมรับว่าเซียนพระในตลาดไม่ยอมรับ อาจไม่สากล ทั้งๆ ที่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้ครอบครอง

สมเด็จพุฒาจารย์โตได้สร้างพระพิมพ์พระประธานหลายวัด แบ่งได้เป็น 3 ยุค คือ ยุคต้น (ลักษณะท้วมๆ) ยุคกลาง (ทรง หุ่นพอดี) และยุคปลาย (เรียวๆ พุทธศิลปะพระสุโขทัย) ซึ่งบรรดาเซียนพระมักจะเล่นพระสมเด็จฯ ยุคปลาย ที่ “หลวงวิจารณ์ เจียรนัย” ช่างทองในราชสำนักเป็นคนแกะพิมพ์ถวายสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ในปี 2407 ซึ่งมีจำนวน 29 แม่พิมพ์เท่านั้น แต่ละพิมพ์ยังแบ่งเป็น 2 เนื้อ มีมวลสาร 108 ชนิดแตกต่างกันไป (วัดระฆังมีถึง 21 แม่พิมพ์) วัดบางขุนพรหม (ใน) มี 8 แม่พิมพ์ แต่อีกด้านหนึ่งพบว่าปี 2496-2501 เริ่มขบวนการทำพระปลอมล็อตใหญ่เกิดขึ้น

ครูชาบอกว่าพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์พระประธานต้องดูทุกเส้นสาย เส้นซุ้มต่างๆ วิเคราะห์ถึงตำแหน่งโค้ง แหว่งเว้าคอดกิ่ว บางอูม ส่องเนื้อให้เห็นถึงความละเอียด ขาวขุ่น เม็ดกรวด เม็ดมวลสาร เจาะให้ลึกถึงฝ้ารัก ตามธรรมชาติของเก่าทุกมิติถึงโครงสร้างเนื้อพระสมเด็จ นี่แหละ..เสน่ห์ของคนเล่นพระ
กำลังโหลดความคิดเห็น