xs
xsm
sm
md
lg

ซวยซ้ำซ้อน! ผัวเมียเจอพิษโควิด-19 ตกงานดิ้นสู้ขายสินค้าออนไลน์ถูกหลอกสูญเงินนับหมื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ผัวเมียชาวขอนแก่น เซลส์ขายเครื่องกรองน้ำตกงานเพราะพิษไวรัสโควิด-19 ดิ้นหาอาชีพใหม่เพื่อความอยู่รอด ทั้งขายอาหารทะเลและเก็งกำไรเช่าซื้อพระเครื่องทางออนไลน์ แต่เคราะห์ซ้ำถูกสิบแปดมงกุฎในคราบพ่อค้าแม่ค้าไซเบอร์หลอกสูญเงินนับหมื่นบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (26 พ.ค.) น.ส.ณัฐเพ็ญ แก้วกัลยา อายุ 25 ปี และนายเฉลิมพล ตันกรรมสิทธิ์ อายุ 39 ปี 2 สามีภรรยาชาวขอนแก่น เข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชนพร้อมหลักฐานเอกสารการติดต่อซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ โดยทั้งคู่ถูกมิจฉาชีพสมอ้างว่าเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ นำเสนอสินค้าจนหลงกลโอนเงินค่าสินค้าไปให้ แต่สุดท้ายได้สินค้าไม่ตรงตามที่ตกลง เมื่อจะทักท้วงสอบถามกลับปิดเฟซบุ๊กหนี


น.ส.ณัฐเพ็ญกล่าวว่า ตัวเธอและสามีมีอาชีพเป็นพนักงานขายเครื่องกรองน้ำ แต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 บริษัทปิดกิจการ ทำให้ต้องตกงาน ไม่มีรายได้ จึงดิ้นรนหาช่องทางหารายได้เสริม โดยตนได้หาข้อมูลเกี่ยวกับการค้าขายอาหารทะเลมาสักระยะและพบว่าซื้อขายง่ายและมีรายได้ดี กระทั่งเข้าไปดูข้อมูลในกลุ่มเฟซบุ๊ก ซื้อขายอาหารทะเล พบผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Jeraya Junny” ได้โพสต์ขายกุ้งแม่น้ำสดๆ จากบ่อ ราคาไม่แพง จึงกดปักหมุดติดตามไว้ แต่ขณะที่กำลังหาดูสินค้าอาหารทะเลในกลุ่มของเจ้าอื่นๆ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Jeraya Junny” ได้ส่งข้อความมาทักทายพร้อมเสนอราคาขายกุ้งให้กิโลกรัมละ 100 กว่าบาท ตอนแรกตนยังไม่มั่นใจและยังไม่เชื่อ แต่ตนก็ยังไม่มั่นใจ พอคุยไปสักพักผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวได้เสนอลดราคาซื้อขายลงมาที่กิโลกรัมละ 100 บาทถ้วน บอกสำทับอีกว่าสินค้าเหลือไม่มาก หากไม่รีบซื้อ อาจจะไม่ได้สินค้าราคานี้แล้ว ตนจึงตกลงซื้อขายที่ 25 กิโลกรัม เป็นเงิน 2,300 บาท และโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ ชื่อนายโสมณัฐ อยู่เนียม


จากนั้นได้ส่งสลิปการโอนเงินไปให้ผู้ขาย และนัดส่งของกันในวันต่อมา และพบว่าวันรุ่งขึ้นผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้ติดต่อไม่ได้ โทรศัพท์ไปก็ไม่รับ และยังปิดเฟซบุ๊กหนี จึงเชื่อว่าตนเองถูกหลอกและในกลุ่มก็ถูกแม่ค้ารายนี้หลอกหลายสิบรายเช่นกัน

หลังจากนั้นจึงหอบหลักฐานเข้าแจ้งความต่อตำรวจ สภ.ท่าพระ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้คดียังไม่มีความคืบหน้า จึงตัดสินใจนำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชน อย่างน้อยจะได้ไม่มีใครตกเป็นเหยื่อถูกโอนเงินให้กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้อีก


ทางด้านสามี นายเฉลิมพล ตันกรรมสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ได้ศึกษาข้อมูลการเช่าบูชาพระเครื่องมาสักระยะ แต่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญ จึงอยากจะลองเช่าบูชาเป็นอาชีพเสริมในช่วงที่ตกงาน โดยได้ไปหาข้อมูลทางออนไลน์ในกลุ่มเช่าบูชาพระเครื่อง

กระทั่งมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Ben Phayea” ทราบชื่อภายหลัง คือ นายอนุวัติ คำมา เข้ามาเสนอปล่อยพระเครื่อง หลวงพ่อโสธร รุ่น 80 ปี กรมตำรวจ ในราคา 2,100 บาท โดยนายอนุวัติได้ส่งภาพถ่ายมาหลวงพ่อโสธรมาให้ดูอย่างละเอียดทุกมุม ตนดูแล้วก็เชื่อว่าเป็นของจริง จึงตัดสินใจโอนเงินให้นายอนุวัติ หลังจากนั้นนายอนุวัติได้ส่งสินค้าคือพระโสธรมาให้ แต่เนื่องจากวันที่ได้รับสินค้าตนเองไม่ทันได้ดูสินค้าละเอียด ติดธุระเร่งด่วนจึงดูเพียงคร่าวๆ และนำไปเก็บไว้

ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ นายอนุวัติได้เข้ามาเสนอปล่อยหลวงพ่อโสธร รุ่นเดียวกันอีกและส่งภาพมาให้ดูเหมือนเคย เมื่อดูแล้วพบว่าองค์พระสวย จึงตกลงเช่าบูชาในราคา 4,000 บาท แต่ตนเองขอจ่ายครึ่งเดียวก่อน เมื่อได้รับสินค้าถึงจะโอนเงินให้ในส่วนที่เหลือ นายอนุวัติได้ตอบตกลงและรับปากว่า เมื่อส่งสินค้าแล้วจะแจ้งเลขพัสดุไปให้ พอตนโอนเงินเสร็จ นายอนุวัติอ้างว่าทำสลิปการส่งพัสดุหาย ส่งแต่เพียงเลขพัสดุมาให้


เมื่อนำไปตรวจสอบพบว่า เลขพัสดุที่ส่งมาให้นั้นเป็นเลขพัสดุของผู้ส่งสินค้ารายอื่นส่งไปให้นายอนุวัติ ไม่ใช่พัสดุส่งมาหาตน เมื่อสอบถามนายอนุวัติก็ไม่ยอมอ่านข้อความ ก่อนจะปิดเฟซบุ๊กหนีหายไป และเมื่อมาตรวจดูหลวงพ่อโสธร องค์แรกที่เช่าบูชามาก็พบว่าเป็นพระปลอม จึงนำข้อมูลไปโพสต์ในกลุ่มพบว่ามีผู้เสียหายที่ถูกนายอนุวัติ หลอกเป็นจำนวนมาก จึงนำหลักฐานเข้าแจ้งความต่อตำรวจ สภ.ท่าพระ เพื่อติดตามตัวคนร้ายรายนี้มาดำเนินคดีตามกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น