xs
xsm
sm
md
lg

แล้งกระหน่ำ! ส้มวังชิ้นหมื่นไร่เริ่มเหี่ยวคาต้น-ลูกเล็กราคาดิ่งเหว โควิดทำตลาดปิดซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพร่ - เกษตรกรวังชิ้นระทม..ภัยแล้งกระหน่ำหนัก สวนส้มหมื่นไร่เริ่มแห้งเหี่ยวคาต้นแล้ว 20% ผลผลิตตกเกรดราคาดิ่งเหวไม่พอ โควิดระบาดทำตลาดปิดซ้ำ


นอกจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จะทำให้ผู้คนต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากกันทั้งแผ่นดินแล้ว ขณะนี้เกษตรกรชาวนาพูน อ.วังชิ้น จ.แพร่ ยังต้องผจญกับปัญหาภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น จนสวนส้มเขียวหวานที่ไม่มีระบบน้ำดีพอ หรือขาดแหล่งน้ำต้นทุน ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงใบเหี่ยวแห้งเสียหายรุนแรงประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ปลูกส้มทั้งหมดกว่า 10,000 ไร่

คุณภาพผลผลิตภาพรวมเสียไป อาทิ ขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไปไม่สามารถนำเข้าตลาดได้ แม้ยังคงความหวานมาก และส้มที่อยู่ในเกรดมาตรฐาน ขนาดเบอร์ 0 เบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 ยังคงเป็นที่ต้องการ แต่ตลาดหยุดชะงักเนื่องจากปัญหาไวรัสระบาด ราคาตกต่ำจากเฉลี่ย กก.ละ 30 บาท เหลือเพียง 10 บาทเท่านั้น


ล่าสุดนางกานต์เปรมปรีดิ์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่กี่ยวข้องกับภัยแล้ง เกษตรกรรม และการค้าขายพืชเกษตร ได้ลงพื้นที่พบเกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวาน ต.นาพูน พร้อมทั้งผู้นำหมู่บ้าน เพื่อรับฟังปัญหาภัยแล้ง-คิดหาทางออกแก้ปัญหาร่วมกัน

นายวีระ เงินวิลัย ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.แพร่ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือการจัดการน้ำ ซึ่งตำบลนาพูนมีพื้นที่เกษตรจำนวนมาก โดยเฉพาะส้มมีปลูกอยู่นับ 10,000 ไร่ แต่เป็นพื้นที่มีโฉนดเพียง 4,000 ไร่เท่านั้น ดังนั้นการช่วยเหลือด้านน้ำ ไม่ว่าจะเป็นบ่อบาดาล บ่อน้ำตื้น อ่างเก็บน้ำต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่เสียก่อน และพื้นที่ช่วยเหลือเป็นพื้นที่ป่า ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของสถานที่ เช่น กรมป่าไม้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หมู่ 7 ต.นาพูน กรมน้ำบาดาลวางแผนการขุดเจาะบ่อบาดาลไว้แล้ว รอท้องถิ่นส่งข้อมูลประกอบการอนุมัติให้ใช้พื้นที่เท่านั้น


นางกานต์เปรมปรีดิ์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า จังหวัดแพร่เตรียมประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติเพื่อสะดวกในการหางบประมาณมาช่วยเหลือเยียวยา จากนั้นต้องเร่งทำแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งมีการขอมาแล้ว 10 บ่อ แต่ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรขอเพิ่มได้ภายในวันที่ 20 เมษายนนี้


ส่วนส้มที่กำลังให้ผลผลิตทั้งที่มีขนาดมาตรฐาน ใหญ่หรือเล็กเกินมาตรฐาน จะมีการประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือไปยังจังหวัดต่างๆ ให้เปิดจุดจำหน่ายช่วยเกษตรกร พร้อมเปิดตลาดค้าปลีกและค้าส่งที่ศาลากลางจังหวัดแพร่ นอกจากนั้นยังสั่งการให้คณะทำงานเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดแพร่เร่งปรับเปลี่ยนการปลูกส้มเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ เรียกว่าพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ส่งเสริมให้เกิดการส่งเสริมการแปรรูปส้มเป็นแยม หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ในระยะยาวและยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น