พิษณุโลก - ผู้ว่าฯ เมืองสองแควเรียกสถานบริการ-โรงแรมรับมือ COVID-19 แบบเข้มข้น สั่งกำนัน-ผญบ.จัดเวรยามเฝ้าระวัง ด้าน สสจ.เรียก ผอ.ทุกโรงพยาบาลประชุมด่วน ระบุ..วันข้างหน้ายังคาดเดาไม่ได้ รู้แค่สถานการณ์ยังไม่จบ
วันนี้ (17 มี.ค.) นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้เชิญผู้ประกอบการสถานบริการ โรงแรมเข้าร่วมหารือถึงการรับมือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่ศาลากลางจังหวัดฯ ร่วมกับคณะกรรมการควบคุมโรค จ.พิษณุโลก และผู้บริหารหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและสำคัญ หลังจากช่วงเช้าวันเดียวกันได้มีการประชุมเข้ารับมอบนโยบายรับมือโรค COVID-19 ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (Video Conference System) จาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยได้มีการมอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกจัดทำประกาศจังหวัดพิษณุโลกในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้มีความครอบคลุมในทุกด้าน เช่น มอบอำนาจให้นายอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ และ ผอ.รพ.สต. กำนันและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่จัดเวรยามในการเฝ้าระวังดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่อย่างเข้มงวด หากพบเจอผู้อยู่ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังให้แจ้งมายังจังหวัดทันที โดยเฉพาะกรณีหากเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงทั้ง 4 ประเทศ (จีน เกาหลี อิตาลี และอิหร่าน) หากพบต้องมีใบรับรองแพทย์ ประกันชีวิต ใช้แอปพลิเคชันติดตามตัว หากไม่มีข้อใดข้อหนึ่งให้แจ้งมาที่จังหวัดโดยต่วน
ส่วนสถานบันเทิง ผับ บาร์ ร้านคาราโอเกะ ร้านเกม ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ ร้านนวดแผนไทย ฯลฯ ขอให้มีจุดคัดกรองก่อนเข้าใช้บริการ ต้องมีที่วัดไข้ เจลล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย จัดที่นั่งให้ห่างกัน 1 เมตร และมีชุดปกครองฯ ออกไปตรวจความเรียบร้อย
วันเดียวกัน นายแพทย์ ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ได้เชิญ ผอ.โรงพยาบาลรัฐและเอกชนในพิษณุโลกเข้าประชุมภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข EOC ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เพื่อติดตามและควบคุมสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
นายแพทย์ สสจ.พิษณุโลกเปิดเผยว่า ได้เชิญ ผอ.โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนมาทำความเข้าใจเพื่อให้การดูและรักษาผู้ป่วยมีแนวทางการปฏิบัติเหมือนๆ กัน ถามว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นอย่างไรนั้น ถ้าเทียบกับภาพรวมยืนยันว่าพิษณุโลกยังไม่รุนแรง แต่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดให้พร้อมตลอดเวลาเพื่อความอุ่นใจของประชาชน
“สถานการณ์วันข้างหน้ายังไม่สามารถคาดเดาได้ รู้เพียงว่าสถานการณ์ยังไม่จบ นั่นแปลว่าเราต้องเตรียมการ และการเตรียมการต้องทำให้เข้มข้นและเตรียมพร้อมให้มากที่สุด”
ด้านนายแพทย์ สุชาติ พรเจริญพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก เปิดเผยว่า โรงพยาบาลมีผู้ป่วยและญาติจำนวนมากเข้ามาเข้าใช้บริการ โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ เด็ก หรือผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้มีโรคประจำตัวต่างๆ จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ และทำให้มีอาการแย่ลงได้ ดังนั้น โรงพยาบาลจึงมีมาตรการลดความแออัด ให้ผู้ป่วยนัดที่มีอาการคงที่รับยาได้ที่ร้านยา หรือสถานบริการใกล้บ้าน รวมถึงการเจาะเลือดได้ที่สถานบริการใกล้บ้านด้วย แต่หากมีอาการผิดปกติ สามารถเข้ามารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลได้
“ปัจจุบันโรงพยาบาลพุทธชินราชมีผู้ป่วยเข้ารับบริการวันละประมาณ 3,000 ราย ถือว่ามีความแออัดมาก เสี่ยงต่อการติดและแพร่กระจายเชื้อโรคโควิด-19 ฉะนั้น ภายใน 6 เดือนนับจากนี้โรงพยาบาลมีเป้าหมายลดจำนวนผู้ป่วยลงร้อยละ 50 โดยมีนโยบายให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา ไม่ต้องมารอคิวที่โรงพยาบาลอีก”
ส่วนกรณีมีผู้ป่วยจาก จ.สุโขทัย และเดินทางเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งก่อนส่งต่อมาที่ รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก และมีข่าวว่าเป็นโรค Covid-19 นั้น เมื่อผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง พบว่ามีประวัติเสี่ยงต่อการรับเชื้อ และมีอาการไข้ เสี่ยงสูงที่จะเป็นโรค Covid-19 จึงได้มีการรับตัวมาที่ รพ.พุทธชินราชด้วยรถที่มีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาลดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้น โดยตรวจพิสูจน์เพื่อหาเชื้อในร่างกาย จัดให้อยู่ในที่รักษาที่เหมาะสมไม่แพร่เชื้อ
ขณะที่คนในครอบครัว คนที่สัมผัส รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ตรวจรักษา หรืออาจสัมผัสกับผู้ป่วย ได้รับการสอบสวนโรค โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวนหนึ่งซึ่งได้ถูกกักตัวไว้ดูอาการที่บ้าน Home Quarantine ทุกคน และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำได้มีการให้สังเกตอาการตนเอง และให้ปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง และจะมีการตรวจเชื้อบุคคลที่สัมผัสเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมตามหลักทางการแพทย์ (ประมาณ 5-7 วันหลังสัมผัส)
มาตรการดังกล่าวน่าจะเป็นการป้องกัน ทำให้สังคมปลอดภัยได้ และการที่จะรู้ผลแล้วหรือยังไม่รู้ผลว่าติดเชื้อ Covid-19 หรือไม่จึงไม่มีความแตกต่างกันในทางปฏิบัติ หรือไม่มีผลที่แตกต่างต่อความปลอดภัยของสาธารณชน