เชียงราย - เมืองพ่อขุนฯ ประกาศดีเดย์ห้ามเผา 100% เต็มพื้นที่ เริ่ม 22 ก.พ.นี้ หลังรณรงค์งดเผาแล้วแต่ PM 2.5 ยังพุ่งเกินมาตรฐาน ขณะที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ตัดริบบิ้นเปิด “คลินิกมลพิษ” รับมือผู้ป่วยทะลักเพิ่ม
วันนี้ (20 ก.พ.) นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือพีเอ็ม 2.5 จ.เชียงราย ปี 2562-2563 ที่ห้องประชุมจอมกิตติ ศาลากลาง จ.เชียงราย
หลังจากก่อนหน้านี้ จ.เชียงราย ได้ประกาศขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันไฟป่าและการเผาในที่โล่งและประกาศขอความร่วมมืองดเผาในที่โล่งแจ้งทุกชนิด แต่ระหว่าง 1 ม.ค. - 19 ก.พ. ค่าพีเอ็ม 2.5 ยังสูงเกินค่ามาตรฐานหรือมากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ อ.เมืองเชียงราย ตรวจวัดได้เกินเป็นเวลา 5 วัน และที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ อ.แม่สาย ชายแดนไทย-พม่า ตรวจวัดได้เกินเป็นเวลา 14 วัน
นายประจญเปิดเผยว่า ดังนั้นทาง จ.เชียงราย จึงมีมติประกาศใช้มาตรการ “60 วันปลอดการเผาทุกชนิดโดยเด็ดขาด” ระหว่างวันที่ 22 ก.พ. - 21 เม.ย.นี้ พบเห็นการเผาจะถูกจับกุมดำเนินคดี และปรับทันที หรือต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่ 1-30 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000-3,000,000 บาท ส่วนผู้ชี้เบาะแสจะได้รับเงินรางวัลนำจับ 5,000 บาทด้วย
นอกจากนี้ยังได้หารือในเรื่องการจัดทำสถานที่ปลอดภัย หรือเซฟตี้โซน ภายในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ทำการปกครองอำเภอ สถานศึกษา และห้างสรรพสินค้าทุกแห่ง และการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ลดมลพิษและป้องกันสุขภาพ
วันเดียวกัน นพ.ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย นพ.ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ พร้อมด้วยคณะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้เปิด “คลินิกมลพิษ” ขึ้นภายในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย เพื่อให้บริการเป็นคลินิกเฉพาะทางที่เน้นการให้บริการด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ติดตามภาวะสุขภาพของประชาชนที่กับสัมผัสพิษเรื้อรัง โดยเน้นการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ รวมทั้งรองรับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษต่างๆ โดยเฉพาะจากวิกฤตหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กพีเอ็ม 2.5 ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ของทุกปีด้วย
นพ.ทศเทพเปิดเผยว่า แม้จังหวัดฯ จะมีมาตรการห้ามเผา แต่ความกดอากาศสูง อากาศแปรปรวน ฯลฯ เป็นผลทำให้ค่าพีเอ็ม 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ติดต่อกัน ดังนั้น ทางเครือข่ายสำนักงานสาธารณสุขจึงได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ระมัดระวังป้องกัน และได้จัดเตรีวมหน้ากากอนามัยไว้แจกจ่ายแก่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุ เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ฯลฯ และเฉพาะกรณีของผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองที่มีอยู่กว่า 200,000 คน
ส่วนคลินิกมลพิษก็ถือเป็นอีกส่วนของมารตรการรองรับปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องของการให้คำแนะนำรักษาผู้ป่วยและจัดบริการพื้นที่สะอาด หรือเซฟตี้โซน ซึ่งกำหนดให้มีทุกโรงพยาบาลชุมชนทั่วจังหวัดกว่า 200 แห่ง เพื่อให้สามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 20,000 คน นอกจากนี้ ในอนาคตก็ยังมีแผนจะขยายไปครอบคลุมไปถึงศูนย์เด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โรงเรียน สถานที่ราชการต่างๆ หรือภายในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ต่อไปด้วย
ด้าน นพ.ไชยเวชกล่าวว่า คลินิกมลพิษจะมีทีมแพทย์และพยาบาลดูแลผู้ป่วยเป็นการเฉพาะ โดยผู้จะเข้ารับการรักษาจะได้รับการคัดกรองว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสะสมของควันและฝุ่นในอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดไฟป่า การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร เชื้อเพลิงจากภาคการคมนาคมและอุตสาหกรรม สารมลพิษทางอากาศ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้การรักษาตรงตามโรคและกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งช่วยแบ่งเบาจำนวนผู้ป่วยจากการรักษาโรคทั่วไปภายในโรงพยาบาลตามปกติ
ขณะที่ภายในคลินิกยังมีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควัน เช่น การใช้หน้ากากอนามัย เจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือ เครื่องฟอกอากาศเพื่อลดความเสี่ยงด้วย