xs
xsm
sm
md
lg

แชมป์แกะสลักหิมะอาชีวะอุบลฯ โชว์ศิลปะต้นเทียนพรรษา ทวงแชมป์สมัยที่ 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทีมนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ใช้ศิลปะแกะสลักต้นเทียนพรรษา มาแกะก้อนหิมะ ที่เมืองฮาร์บิน กรุยทางคว้าแชมป์สมัยที่ 3
อุบลราชธานี - ทีมแกะสลักหิมะวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ปรับกระบวนการแกะสลัก ป้องกันก้อนหิมะถล่ม เน้นให้ 4 นักศึกษาชูกลยุทธ์ใช้ลวดลายความอ่อนช้อยศิลปะต้นเทียนพรรษา สู่เวทีแกะก้อนหิมะ มุ่งกำชัยชนะ

วันนี้ (6 ม.ค. 63) บรรยากาศเข้าร่วมแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ ของทีมนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี อดีตแชมป์เก่า 2 สมัย และปีนี้รังสรรค์ผลงานภายใต้ชื่อ “พลังแห่งความสามัคคี” Unity is Strength ของสัตว์ป่าหิมพานต์ ณ มหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮาร์บิน มณฑลเฮย์หลงเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 4-7 มกราคม 2563


การสร้างสรรค์ผลงานวันนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการแข่งขัน ทีมนักแกะสลักจากประเทศไทยจะต้องสร้างผลงานให้ครบถ้วนสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในเวลา 20.00 น. เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาให้คะแนน จากผู้เข้าแข่งขันทั้งสิ้นรวม 55 ทีมจากเกือบ 20 ประเทศ

ผลงานที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ส่งเข้าร่วมแข่งขันภายใต้ชื่อ “พลังแห่งความสามัคคี” Unity is Strength ของสัตว์ป่าหิมพานต์นั้น มีการสร้างเค้าโครงเรื่องของโลกจินตนาการของกลุ่มสัตว์ที่อยู่ในแดนป่าหิมพานต์ ได้แก่ ไกรสรคชสิงห์, คชสิงห์วารี, เหรา, สกุณาเหรา

วันหนึ่งมีสัตว์ตัวหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากการถูกลูกศรของนายพรานที่ลอบเข้ามาทำร้าย เพื่อนในกลุ่มที่มีพละกำลังแข็งแรงกว่า จึงเข้าช่วยเหลืออย่างไม่รีรอ ด้วยจิตใต้สำนึกแห่งสัญชาติญาณที่ดี จึงได้บังเกิดความช่วยเหลือกันขึ้น ด้วยความงดงาม ควรค่ายิ่งที่จะปลูกฝังให้เกิดขึ้นในจิตใจของสังคมมนุษย์โลกในปัจจุบัน อันจะส่งผลให้โลกของเราอยู่อย่างกัลยาณมิตร สงบสุข ร่มเย็น ตลอดไป โดยผลงานคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 80 แล้ว แต่ต้องปรับกระบวนการแกะสลักบางจุด เพื่อป้องกันก้อนหิมะพังทลาย


นายสุระชาติ พละศักดิ์ ครูผู้ฝึกสอนของทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี เปิดเผยว่า การสร้างสรรค์ผลงานปีนี้ นอกจากใช้ลวดลายไทยที่อ่อนช้อย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสัตว์แต่ละตัวในป่าหิมพานต์ ยังมีความยากของชิ้นงานอยู่ที่การเจาะทะลวงกลางก้อนหิมะ เพื่อเชื่อมโยงกายภาพของสัตว์ในดินแดนป่าหิมพานต์แต่ละตัว ต้องใช้องค์ประกอบการแกะสลักหลายอย่าง เช่น เจาะทะลวงก้อนหิมะ แต่พบอุปสรรคเล็กน้อย ก้อนหิมะบางจุดยังควบแน่นของก้อนหิมะไม่ดีพอ จึงได้ปรับรูปแบบพื่อป้องกันการแตกหักและพังทลายของก้อนหิมะ แต่ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี

คณะครูผู้ฝึกสอนยังเน้นสร้างกำลังใจให้นักศึกษาที่ร่วมแข่งขันของปีนี้ทั้ง 4 คน เรียกตัวเองว่า “ช่างเทียนมีดคัตเตอร์” เพราะนักศึกษาทั้ง 4 คนเป็นเยาวชนที่มีพื้นฐานมาจากช่างแกะสลักเทียนของคุ้มวัดต่างๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะนายอำพล หรือน้องฟ้าลั่น ธรรมทอง นักเรียน ปวช.1 สาขาวิชาวิจิตรศิลป์ ซึ่งเป็นน้องเล็กสุดของทีม แต่มีดีกรีเป็นทีมช่างแกะสลักต้นเทียนพรรษาระดับรองชนะเลิศการแข่งขันต้นเทียนพรรษาปี 2562 ที่ผ่านมา




จึงให้เยาวชนนักศึกษาทั้ง 4 คน แสดงฝีมือการใช้ลวดลายไทยซึ่งเป็นลวดลายหลักใช้แกะสลักต้นเทียนพรรษา เพื่อสร้างผลงานออกมาให้วิจิตรงดงามบวกความอ่อนช้อย เป็นเอกลักษณ์สำคัญของลวดลายไทยให้นักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวต่างประเทศที่ร่วมแข่งขัน และเดินเข้ามาแวะชมได้ตื่นตะลึงไปกับฝีมือของคนไทยครั้งนี้

สำหรับการประกาศผลการแข่งขัน คาดว่าจะทราบผลไม่เกิน 16.00 น.ของวันที่ 7 มกราคม 2563 ตามเวลาของสาธารณรัฐประชาชนจีน


กำลังโหลดความคิดเห็น