xs
xsm
sm
md
lg

เจอตัวการ ! ด้วงจากขี้วัวเจาะต้นพญาเสือโคร่งยืนต้นตายย้ำแปลงภูลมโลยังมีลุ้นออกดอกสะพรั่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์






เพชรบูรณ์ - หน.ภูหินร่องกล้าชี้แมลงด้วงจากขี้วัว เจาะทำลายต้นพญาเสือโคร่ง วอนชาวบ้านอย่านำวัวมาเลี้ยงใต้ต้นพญาเสือโคร่ง ยังพอลุ้นพญาเสือโคร่งมีสิทธิ์ออกดอกเดือนมกราคมนี้ย้ำแปลงที่ภูลมโลไร้ปัญหา





วันนี้( 29 พ.ย.62 )ผู้สื่อข่าวรายงาน ถึงความคืบหน้ากรณีต้นนางพญาเสือโคร่ง หรือ "ซากุระเมืองไทย" แหล่งท่องเที่ยวอันซีนเพชรบูรณ์ แปลงปลูกป่าประชาอาสา หมู่ที่ 14 บ้านทับเบิก ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ บนเนื้อที่ 126 ไร่ ซึ่งผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านทับเบิก ห่วงกังวลเกรงยืนต้นตายยกแปลง หลังพบใบร่วงและกิ่งแห้งกรอบยืนต้นตาย ล่าสุด นายสุริยา กาละสุข หัวหน้าอุทยานภูหินร่องกล้า นำคณะเจ้าหน้าที่อุทยานฯจำนวน 20 นาย พร้อมนายใจ แซ่เถา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 14 ลงพื้นที่สำรวจแปลงพญาเสือโคร่งดังกล่าว


พบต้นนางพญาเสือโคร่งลักษณะทิ้งใบ(ผลัดใบ)เหลือแต่กิ่งก้าน รอแทงยอดและออกใบตามธรรมชาติ ไม่ได้ยืนต้นตายยกแปลงตามที่ชาวบ้านเข้าใจ ส่วนการสำรวจพบมีแค่ยืนต้นตายเพียง 2% หรือแค่ 39 ต้นของพื้นที่ปลูกทั้งหมด โดยต้นพญาเสือโคร่งแปลงนี้ทั้งหมดมีราว 2,000-3,000 ต้น จากนั้นได้ชี้แจงให้นายใจคลายความวิตก พร้อมขอให้นักท่องเที่ยวอย่าได้ห่วงกังวล

นายสุริยา ยืนยันว่า เป็นปรากฎการณ์ไม้ผลัดใบตามธรรมชาติ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ต้นนางพญาเสือโคร่งแปลงนี้ส่วนหนึ่งยืนต้นตายนอกจากเป็นการตายโดยธรรมชาติแล้ว บางส่วนเป็นโรคแมลงโดยถูกแมลงจำพวกด้วงกัดเจาะทำลายที่ลำต้น และในการสำรวจไม่พบการวางยาและไม่มีโรคระบาดอย่างที่หลายคนกังวล ส่วนแมลงด้วงคาดว่า มาจากขี้วัวที่ชาวบ้านนำมาปล่อยเลี้ยงในแปลงพญาเสือโคร่ง จึงขอให้ทางผู้ใหญ่บ้านขอความร่วมมือจากชาวบ้านไม่ให้นำวัวมาเลี้ยงในบริเวณนี้ เพื่อจะเฝ้าสังเกตและเก็บข้อมูลพญาเสือโคร่งแปลงนี้ว่าจะออกดอกหรือไม่หลังจากปีที่ผ่านมาไม่ออกดอก


นายสุริยา กล่าวอีกว่า ปรากฎการณ์ผลัดใบของต้นพญาเสือโคร่งจะเป็นแบบปีเว้นปีถือว่าเป็นปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและความสมบูรณ์ของต้น หากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยหรือมีฝนตกอาจจะไม่ออกดอกแต่อาจจะแตกเป็นใบไปเลย และพญาเสือโคร่งจะออกดอกราวเดือนมกราคม ฉะนั้นก็ยังมีโอกาสลุ้นว่าพญาเสือโคร่งภูทับเบิกจะออกดอกเช่นกัน ส่วนแปลงที่ภูลมโรก็เป็นปกติไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

"อย่างไรก็ตามหลังจากฤดูแตกช่อดอกและใบ ซึ่งจะทำให้เห็นสภาพของต้นไม้ที่ชัดเจนจะได้ประสานผู้ใหญ่บ้านและผู้นำชุมชนมาตรวจสอบสภาพของต้นไม้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นข้อมูลในการที่จะวางแผนฟื้นฟูในระยะยาวต่อไป"นายสุริยากล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น