xs
xsm
sm
md
lg

ฮัทชิสัน พอร์ทโชว์ศักยภาพเทคโนโลยีการควบคุมระยะไกลในท่าเทียบเรือชุด D

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - ฮัทชิสัน พอร์ท เปิดบ้านโชว์ศักยภาพเทคโนโลยีการควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลในท่าเทียบเรือชุด D ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี  ยกระดับท่าเรือแหลมฉบัง สู่ “ท่าเรืออัจฉริยะ” ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0

วันนี้ (27 พ.ย.) มร.สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมด้วยนายอาณัติ อัชฌิมา ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินอล จำกัด และคณะผู้บริหาร ได้นำสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมท่าเทียบเรือชุด D ที่มีการพัฒนาและติดตั้งเทคโนโลยีล้ำสมัย ณ ศูนย์บริการผู้เยี่ยมชม ณ ท่าเทียบเรือชุด D ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

มร.สตีเฟ่น กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ติดตั้ง ณ ท่าเทียบเรือชุด D ท่าเรือแหลมฉบัง จะช่วยยกระดับท่าเรือสู่การเป็นท่าเทียบเรือที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีศักยภาพในการรองรับเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน และยังอยู่ใจกลางภูมิภาคอาเซียนที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และประเทศอื่นๆ ได้อย่างสะดวกอีกด้วย

นอกจากนั้น ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ยังวางแผนที่จะนำนวัตกรรมสมัยใหม่อื่นๆ เข้าสู่ท่าเทียบเรือชุด D เพื่อสนับสนุนการยกระดับโครงการเครือข่ายการขนส่งระดับโลกด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างสายเดินเรือต่างๆ และผู้ใช้งานท่าเรือ การใช้เทคโนโลยีรถบรรทุกไร้คนขับ ที่ ใช้ได้ทั้งบริเวณหน้าท่าและลานในท่า

รวมทั้งเทคโนโลยีประตูอัตโนมัติที่ประตูทางเข้าและทางออกท่า เพื่อระบุตัวตนของรถได้จากระยะไกล ซึ่งจะสอดคล้องต่อแผนพัฒนาของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่จะผลักดันให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็น “ท่าเรืออัจฉริยะ” ที่มีนวัตกรรมต่างๆ โดยคาดว่าจะนำมาทดลองใช้จำนวน 6 คัน ในเดือนมกราคม 2563 นี้ และจะดำเนินการให้ครบ 100 คัน ตามแผนงานที่วางไว้

ทั้งนี้ ปัจจุบันท่าเทียบเรือชุด D ก่อสร้างเสร็จแล้วราว 50% โดยมีความยาวหน้าท่า 1,000 เมตร ประกอบด้วย ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า จำนวน 6 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง จำนวน 20 คัน โดยทั้งหมดติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลอย่างเต็มรูปแบบ

และท่าเทียบเรือดังกล่าวยังสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าระวางความจุเกิน 14,000 ทีอียู (หน่วยกับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) ซึ่งมีน้ำหนักรวมได้มากถึง 150,000 ตัน และมีความยากของเรือกว่า 360 เมตร

โดยในปี 2023 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า โครงการท่าเทียบเรือชุด D จะดำเนินการแล้วเสร็จสมบูรณ์ และจะมีความยาวหน้าท่ารวมทั้งสิ้น 1,700 เมตร ประกอบไปด้วย ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า จำนวน 17 คัน และมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง จำนวน 43 คัน สามารถรองรับตู้สินค้าของฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย และท่าเรือแหลมฉบังได้อีก 3.5 ล้านทีอียู














กำลังโหลดความคิดเห็น