xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาเมืองช้างสะอื้น! โรคไหม้คอรวงข้าวระบาดหนัก นาข้าวหอมมะลิสูญยับแล้วนับแสนไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สุรินทร์ - ชาวนาเมืองช้างสะอื้น! หลังประสบภัยแล้งต้องมาเผชิญโรคไหม้คอรวงข้าวระบาดหนัก ทำนาข้าวหอมมะลิชื่อก้องโลกที่กำลังออกรวงเสียหายยับแล้วกว่า 91,300 ไร่ ในพื้นที่ 13 อำเภอ ผู้ว่าฯ สั่งการเกษตรจังหวัดฯ เร่งควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดทั้งจังหวัด 17 อำเภอ

วันนี้ (25 ต.ค.) นายวันรบ เฮ่ประโคน เกษตรจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ว่า ล่าสุดได้รับรายงานมีโรคไหม้คอรวงข้าวระบาดในแปลงนาของเกษตรกร โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิพันธุ์ กข.15 ที่กำลังออกรวง ทำให้คอรวงข้าวไหม้แห้งตายและเมล็ดลีบ เสียหายแล้วในพื้นที่ 13 อำเภอ รวม 91,300 ไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งหมดของจังหวัดสุรินทร์ใน 17 อำเภอ กว่า 3,014,000 ไร่


ประกอบด้วย 1. อ.ลำดวน ระบาด จำนวน 5,533 ไร่ 2. อ.สนม จำนวน 8,968 ไร่ 3. อ.ศรีณรงค์ 850 ไร่ 4. อ.ปราสาท จำนวน 22,726 ไร่ 5. อ.โนนนารายณ์ จำนวน 874 ไร่ 6. อ.สำโรงทาบ จำนวน 12,620 ไร่ 7. อ.สังขะ จำนวน 830 ไร่ 8. อ.ชุมพลบุรี จำนวน 21,274 ไร่ 9. อ.รัตนบุรี จำนวน 5,135 ไร่ 10. อ.เมืองสุรินทร์ จำนวน 2,372 ไร่ 11. อ. ศีขรภูมิ จำนวน 9,924 ไร่ 12. อ.เขวาสินรินทร์ จำนวน 84 ไร่ และ อ.จอมพระ ระบาด จำนวน 110 ไร่

นายวันรบกล่าวต่อว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้สั่งการให้นายอำเภอ เกษตรอำเภอ ระดมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการช่วยกันควบคุมยับยั้งการระบาดของโรคดังกล่าวด้วยการฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เพื่อป้องกัน ซึ่งทางสำนักงานเกษตร จ.สุรินทร์ ได้ประสานงานขอเชื้อราไตรโคเดอร์มาจากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร ด้านอารักขาพืช จ.นครราชสีมา มาให้เกษตรกรชาวสุรินทร์แล้วกว่า 1,000 กิโลกรัม ส่วนหนึ่งเกษตรกรได้ทำการขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มาเองเพื่อไปฉีดพ่นไม่ให้เชื้อโรคระบาดในทุกอำเภอ ซึ่งเชื้อโรคดังกล่าวเริ่มระบาดมาตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ประมาณ 80,000 ไร่ แต่วันนี้ขยายพื้นที่การระบาดถึง 91,300 ไร่แล้ว

ขณะนี้ทางอำเภอต่างๆ ที่ประสบปัญหาโรคไหม้คอรวงข้าวระบาดกำลังเข้าไปสำรวจพื้นที่แล้วรายงานจังหวัดฯ เพื่อให้จังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบต่อไป นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ สุรินทร์ยังสั่งการให้ทำหนังสือขอความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตร และกรมการข้าว เพื่อเข้าไปดูพื้นที่ที่ประสบภัยด้วย


นายวันรบกล่าวอีกว่า ส่วนสาเหตุและปัจจัยของการเกิดโรคไหม้คอรวงข้าวนั้น ในเบื้องต้นเกิดจากการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจากแหล่งที่เกิดโรคไหม้จากปีที่แล้วมาใช้ทำพันธุ์ในปีนี้ รวมทั้งเกษตรกรหว่านข้าวหนาแน่นเกินไปโดยใช้เมล็ดพันธุ์ 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ จากที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้ต้นข้าวหนาแน่น แสงเข้าไม่ถึง อากาศถ่ายเทไม่ดี เกิดความชื้นสูงใต้ต้นข้าว และในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 - สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา พื้นที่เพาะปลูกข้าวในเขต จ.สุรินทร์ ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝนทิ้งช่วง พอถึงเดือนกันยายน พายุฝนพัดผ่านทำให้พื้นที่นามีน้ำขัง เกษตรกรได้เร่งใส่ปุ๋ยเคมีบำรุงต้น และใช้ปุ๋ยยูเรีย ผสมเคมีสูตร 16-16-8 หว่านในนาข้าว ในอัตรามากเกินไปถึง 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้ต้นข้าวงอกงามแต่อ่อนแอจึงเกิดเป็นโรคได้ง่าย โดยโรคไหม้คอรวงข้าวจะไหม้บริเวณคอรวงข้าว ทำให้คอรวงข้าวแห้งตายและเมล็ดลีบไม่ให้ผลผลิต ซึ่งที่ผ่านมาเคยเกิดโรคนี้ระบาดเช่นกัน

ขณะนี้เราต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวแบบวันต่อวัน ล่าสุดตนลงพื้นที่ อ.ศีขรภูมิ เพื่อรณรงค์เกษตรกรช่วยกันฉีดพ่นเชื้อป้องกันโรค โดยส่วนที่เกิดโรคระบาดขึ้นแล้วต้องควบคุม ส่วนที่ยังไม่เกิดเราต้องป้องกันไม่ให้ระบาดเพิ่มพื้นที่อีก ซึ่งช่วงนี้เป็นระบาดกับข้าวหอมมะลิ พันธุ์ กข.15 ที่กำลังออกรวง เนื่องจากเป็นข้าวพันธุ์เบาออกรวงก่อน ฉะนั้นต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดกับ ข้าวหอมมะลิ พันธุ์ 105 จะออกรวงตามมาต่อจากนี้ไป

ดังนั้น ขอฝากถึงเกษตรกรต้องหมั่นไปตรวจดูแลแปลงนาข้าวตัวเองว่าเป็นอย่างไร เกิดโรคไหม้คอรวงข้าวหรือไม่หากเกิดโรค ต้องรีบไปขอเชื้อราไตรโคเดอร์มา ที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ เพื่อไปฉีดพ่นกำจัดโรคไม่ให้ระบาด

นายวันรบ  เฮ่ประโคน เกษตรจังหวัดสุรินทร์





กำลังโหลดความคิดเห็น