xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มต้านโรงไฟฟ้าทุ่งกุลาฯ ยื่นศาลปกครองคุ้มครองทำเวที ค.1 ไม่ชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อุบลราชธานี - เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ยื่นศาลปกครองให้คุ้มครองการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2 เหตุไม่ชอบด้วยกฎหมายในการทำรายงานครั้งที่ 1 มีการปิดกั้นเสรีภาพแสดงความเห็นของคนในพื้นที่ และขนคนจากนอกพื้นที่เข้าร่วมเวที

สายวันนี้ (22 ต.ค.) ที่ศาลปกครองจังหวัดอุบลราชธานี เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาในพื้นที่ ต.โนนสวรรค์ และ ต.สระบัว อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ที่ต้านการตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงบริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด นำโดยนายประยม เสงี่ยมทรัพย์ พร้อมชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการประมาณ 30 คน รวมตัวยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองจังหวัดอุบลราชธานีสั่งให้ยุติแผนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ต่อการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบ สำหรับโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เอาไว้ก่อน

เนื่องจากชาวบ้านที่ยื่นร้องขอรับความคุ้มครองมีความเห็นว่า การจัดทำเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 และวันที่ 16 และ 23 พฤษภาคม 2562 ของบริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด ตามข้อกำหนดของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการขอตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลขนาด 24,000 ตันอ้อย และโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงขนาด 80 เมกกะวัตต์ ซึ่งต้องทำอีไอเอกับชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับผลกระทบในครั้งที่ 1 ไม่ชอบและไม่มีความเป็นธรรม
นายประยม เสงี่ยมทรัพย์ แกนนำเครือข่ายฯ

จึงขอให้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ขึ้นใหม่ พร้อมขอให้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่มีลักษณะปิดกั้น ขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ ทำให้หวาดกลัวในการใช้สิทธิและเสรีภาพในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบวิเคราะห์ (EIA) และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารปฏิบัติหน้าที่ ดูแลความปลอดภัยต่อประชาชนกลุ่มคัดค้านโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) สามารถเข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม จนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบวิเคราะห์ (EIA)

เนื่องจากมีการขนคนจากนอกพื้นที่เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นดังกล่าว พร้อมทั้งมีการแจกเงินให้กับชาวบ้านที่เข้าร่วม เพื่อออกเสียงสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงาน พร้อมทั้งมีการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหารมากรีดกันกลุ่มชาวบ้านที่มีความเห็นคัดค้านการมาตั้งโรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้า ทำให้การจัดเวทีดังกล่าวไม่ได้ข้อเท็จจริงจากคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงงาน เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดที่ตั้งของแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีที่สุดของประเทศในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เมื่อมีโรงงานก็ต้องมีการปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าว จึงอาจเป็นผลกระทบระยะยาวต่อแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิพันธุ์ของประเทศด้วย

ทั้งนี้ เห็นว่าการทำเวทีครั้งที่ 1 ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย การทำเวทีรับฟังความเห็นครั้งที่ 2 ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมายื่นขอให้ศาลปกครองพิจารณาความเดือดร้อนของประชาชนที่ต่อต้านและให้ศาลสั่งคุ้มครองไม่ให้มีการจัดทำเวทีรับฟังความเห็นในครั้งที่ 2 ที่กำลังจะทำในปลายเดือนตุลาคมศกนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น