ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ เปิดพื้นที่ลับสุดยอดพาชม “ปางบุญ” นำคนดูวิถีช้างบ้านโขลงใหญ่ที่รับบริจาคมาจากพิษณุโลกที่อยู่ตามธรรมชาติกลางป่า
น.สพ.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ผู้ริเริ่มโครงการกิจกรรมเยี่ยมชมการเลี้ยงช้างปล่อยในป่าธรรมชาติ เปิดเผยว่า โครงการนี้เริ่มจากปลายปี 61 สถาบันคชบาลได้รับช้างบริจาคโขลงใหญ่ 14 เชือก จากนายบุญ ชาติพานิชย์ ซึ่งเคยเลี้ยงอยู่ที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งในพิษณุโลก
ช้างโขลงนี้มีลักษณะพิเศษคือ เป็นช้างที่อยู่ด้วยกันมานานเกือบจะยี่สิบปีแล้ว มีความผูกพันใกล้ชิด และแทบจะนับได้ว่าเป็นช้างบ้านที่เป็นโขลงใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ รวมทั้งมีช้างหลายช่วงวัย ทั้งวัยสูงอายุ วัยผู้ใหญ่ วัยรุ่น และช้างเล็ก
น.สพ.ทวีโภคบอกว่า เมื่อเขาเข้ามาอยู่กับเราตรงนี้ เราก็พยายามที่จะจัดการให้พวกเขาได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขที่สุด ในป่าที่ค่อนข้างลึกขององค์กรอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้ มีการจัดการดูแลเรื่องสุขภาพและสวัสดิภาพต่างๆ มีพื้นที่อยู่อาศัยที่จัดสรรรไว้อย่างชัดเจนให้ช้างและควาญที่ติดตามกันมาจากพิษณุโลกอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
โดยพื้นที่ส่วนแรกเป็นพื้นที่ส่วนที่ช้างหากินในเวลากลางวันคือบริเวณห้วยสุพรรณ ให้ช้างได้มีสังคมของพวกเขาเอง มีปฏิสัมพันธ์ในหมู่ช้างด้วยกันเอง หาหญ้ากินเอง ได้เล่นดินเล่นโคลน ได้อาบน้ำ มีโอกาสดำรงชีวิตอยู่ในวิถีธรรมชาติของพวกเขา ซึ่งจุดนี้เราสามารถเฝ้าดูพฤติกรรมต่างๆ ของช้างได้โดยที่ไม่เป็นการรบกวนเขาจนเกินไป
พื้นที่อีกส่วนถัดมาก็คือพื้นที่พบปะกันระหว่างช้างกับควาญ ซี่งเป็นที่ตั้งปางพักของเหล่าควาญช้างที่ดูแลช้างโขลงนี้ เป็นพื้นที่ที่เรายินยอมให้คนได้พบปะใกล้ชิดสัมผัสกับช้าง เปรียบเสมือนห้องรับแขก และพื้นที่สุดท้ายคือสถานที่พักผ่อนหลับนอนในเวลาค่ำคืนของช้าง เป็นพื้นที่ส่วนตัวของพวกเขาที่ควาญจะเตรียมอาหาร น้ำ และทำความสะอาดให้ดี ก่อนที่จะส่งช้างเข้าพัก ซึ่งเปรียบเสมือนห้องนอนของช้าง
น.สพ.ทวีโภคได้กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยช้างเป็นสัตว์ใหญ่ จึงต้องมีการควบคุมเพื่อความปลอดภัยของทั้งควาญช้างและตัวนักท่องเที่ยวเองด้วย เราใช้อุปกรณ์ควบคุมตามมาตรฐานทั่วไป เช่น โซ่ ตะขอ ซึ่งเป็นการป้องกันและใช้ในการสื่อสารกับช้างให้อยู่ใต้การดูแลของควาญช้าง อย่างที่เห็นโซ่โยงอยู่บนคอช้าง คือเขาจะต้องแบกไปด้วยเพราะมีน้ำหนักหลายร้อยกิโลกรัม ควาญช้างคงแบกไม่ไหว เราจึงใช้วิธีเดียวกันกับสมัยก่อนที่ยังใช้ช้างลากซุงในอุตสาหกรรมป่าไม้ ช้างก็ต้องเอาโซ่ของตัวเองไปด้วยเพราะไม่เหลือวิสัยที่เขาจะทำได้
นายเลคา วสันต์ฤดู ควาญช้างชาวกะเหรี่ยงที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงช้างมาค่อนชีวิต เปิดเผยว่า ตนเลี้ยงช้างมาตั้งแต่สมัยยังเป็นช่างทำไม้ ต่อมาไม่มีการทำไม้อีกแล้ว จึงได้เข้าไปทำงานเลี้ยงช้างในที่ต่างๆ จนในที่สุดก็ได้มาเลี้ยงช้างโขลงนี้ที่พิษณุโลก เป็นเวลาเกือบยี่สิบปีแล้วที่ใช้ชีวิตอยู่กับช้างโขลงนี้มา จนเจ้าของช้างมีอายุมากขึ้นและบริจาคช้างโขลงนี้มาไว้ที่สถาบันฯ ตนก็ติดตามช้างมาทำงานเป็นควาญดูแลช้างอยู่ที่นี่ด้วย ช้างกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีนิสัยชอบอิสระ แต่ก็ไม่ได้ดุร้ายอะไร เข้ากับควาญได้ดีเพราะส่วนใหญ่คือดูแลกันมานานแล้วจนมีความคุ้นเคยกัน
นางสาวสิริพร ชาติพานิชย์ ลูกสาวนายบุญ ชาติพานิชย์ อดีตเจ้าของช้างโขลงนี้ กล่าวว่า รู้สึกดีที่ช้างของเราได้เข้ามาอยู่ที่นี่ ได้กลายเป็นช้างของแผ่นดิน เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งก่อนที่จะส่งมอบช้างให้มาอยู่ที่สถาบันคชบาลแห่งชาติเราก็ได้เดินทางสำรวจไปทั่วประเทศว่าเราจะมอบช้างให้ที่ใดดูแล และพบว่าที่นี่มีความพร้อม ทั้งสถานที่ เป็นป่า มีภูเขา มีน้ำอุดมสมบูรณ์ มีโรงพยาบาลช้าง มีสัตวแพทย์ประจำหลายท่าน มีบุคลากรเก่งๆ มากมายที่จะช่วยดูแลช้างโขลงนี้ให้อยู่ได้อย่างมีความสุข จึงยินดีมากๆ ที่ได้มอบช้างให้อยู่ในความดูแลของสถาบันคชบาลแห่งนี้
นอกจากกิจกรรมใหม่คือการดูช้างในธรรมชาติแล้ว ทางสถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ ก็ยังคงมีโรงพยาบาลช้างที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศไทยสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ ติดต่อได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-5482-9331 รวมทั้งยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ มากมาย เช่น กิจกรรมการแสดงช้าง นั่งช้างชมธรรมชาติ ชมช้างอาบน้ำและอาบน้ำร่วมกับช้าง การสาธิตการทำกระดาษขี้ช้าง และยังมีโปรแกรมการฝึกควาญช้างสมัครเล่นอีกด้วย รวมถึงบริการห้องพักในหลายๆ รูปแบบ มีห้องประชุมสัมมนา สามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-5482-9322, 0-5482-9333 หรืออีเมลแอดเดรส info@thaielephanat.org