xs
xsm
sm
md
lg

ผวาซ้ำรอยฝายแม้ว! คนพิษณุโลกจับตาผู้ว่าฯ สั่งสำรวจจุดทำฝาย 5 พันลูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิษณุโลก - เครือข่ายนักอนุรักษ์-จนท.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับตาผู้ว่าฯ พิษณุโลกสั่งสำรวจหาจุดสร้างฝายสู้แล้ง 5 พันลูกทั่ว จว.แทนเขื่อน ผวาซ้ำรอยฝันร้ายฝายแม้วที่ทำแบบวัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง จน ขรก.ถูกไล่ออกกว่าร้อยคนแล้ว

ขณะนี้ชาวพิษณุโลก กลุ่มอนุรักษ์-เอ็นจีโอ โดยเฉพาะกลุ่มรักษ์เนินมะปราง เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู ที่เคยออกมาต้านโครงการสร้างเขื่อนกั้นคลองชมพูเพราะตั้งอยู่ในเขตป่าต้นน้ำ อช.ทุ่งแสลงหลวงที่อุดมสมบูรณ์ มีจระเข้น้ำจืด พืชพันธุ์เฉพาะถิ่นหายาก ต่างพากันจับจ้องให้ความสนใจกระแสข่าวการฟื้นชีพโครงการทำฝายชะลอน้ำ

หลังนายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าฯ พิษณุโลก สั่งการสำรวจพื้นที่สร้างฝาย 5,000 แห่ง พร้อมแจ้งไปยังสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 พิษณุโลก (สบอ.11) เมื่อ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ให้สำรวจพื้นที่ภายในพิษณุโลกเพื่อสร้างฝายชะลอน้ำดังกล่าว เบื้องต้นพบมี “ฝายชั่วคราว” สามารถสร้างได้ในเขตอุทยานฯ 1,000 แห่ง แต่ยังไม่แน่ชัดว่าในส่วนของสำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 กรมป่าไม้ มีพื้นที่สร้างฝายจำนวนเท่าใด

อย่างไรก็ตาม หลายปีก่อนในยุคผู้ว่าฯ พิษณุโลกคนติดดินเคยสั่งให้กรมป่าไม้จัดสร้างฝายชะลอน้ำ โดยใช้งบจังหวัดพิษณุโลกร่วม 20 ล้านบาท แต่ ณ วันนี้..กลับไม่มีฝายชะลอน้ำที่สร้างมาด้วยเงินภาษีของประชาชนเหลืออยู่แล้ว

และหากย้อนไปเมื่อปี 2552 นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ ส.ส.กทม. และนายนคร มาฉิม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (สมัยนั้น) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎรในยุคนั้น เป็นแกนนำตรวจสอบทุจริตโครงการฝายชะลอน้ำหรือฝายแม้ว ยุคนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เป็น รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ ผ่าน ครม. 1 เม.ย. 51 ใช้เงินงบประมาณ 770 ล้านบาท สร้างฝายแบบผสมผสานจำนวน 119,600 แห่ง พร้อมปลูกหญ้าแฝกจำนวน 100 ล้านกล้าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 13 จังหวัด (สบอ.5 แห่ง)

กระทั่งพบการทุจริตฝายแม้ว ใช้วิธีจ้างชาวบ้านกรอกทรายใส่ถุงปุ๋ยวางเรียงกั้นลำธาร ประเมินมูลค่าฝายชั่วคราวเพียง 500-1,000 บาทต่อลูกเท่านั้น จากที่ตั้งงบประมาณรัฐลูกละ 5,000 บาท เฉพาะพิษณุโลก (สบอ.11) พบว่ามีฝายชะลอน้ำ อช.ทุ่งแสลงหลวง อช.ภูหินร่องกล้า, น้ำตกต่างๆ อ.วังทอง อ.เนินมะปราง ถูกระบุว่ารวมวงเงินสร้างฝายจำนวน 120 ล้านบาท หากทำฝายราคา 5 พันบาท จริงๆ ต้องมีฝายจำนวนทั้งสิ้น 24,000 แห่ง

ต่อมา กมธ.ได้ชงเรื่องให้ สตง., ป.ป.ช., ดีเอสไอ ตรวจสอบจนพบมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้และอุทยานฯ 400 คนเป็นจำเลย ถูกเอาผิดให้ออกราชการไปกว่า 100 คน ล่าสุดคดียังไม่สิ้นสุดอยู่ในพิจารณาชั้นศาลยุติธรรม สืบข้อเท็จจริงต่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐรับเงินมาจ้างชาวบ้านทำฝาย 2,500 บาท ส่วนที่เหลืออีกครึ่งนั้นส่งคืนกลับให้ใครหรือหน่วยงานไหนในส่วนกลาง

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า หากจังหวัดฯ คิดจะทำฝายก็ต้องดูว่าอยู่ในพื้นที่ใด หากเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งกรมป่าไม้ดูแล ขั้นตอนขออนุญาตดำเนินการจะน้อยลง ส่วนป่าอนุรักษ์, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งกรมอุทยานฯเป็นผู้ดูแล จะต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาและให้อธิบดีกรมอุทยานฯ พิจารณาว่าผ่านไหม ผิดหลักการหรือไม่ โดยพิจารณาลำน้ำในต้นน้ำลำธาร

ทั้งนี้ ปัจจุบันหลายหน่วยงานกำลังสำรวจและเสนอพื้นที่ทำฝายชะลอน้ำด้วยงบโครงการรัฐต่างๆ บ้างก็ร่วมกับ อบต. ยอมรับว่าหลังเกิดการทุจริตฝายแม้วเกิดขึ้น ทำให้ปี 61 ที่ผ่านมามีหนังสือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชแจ้งทุกพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศว่า หากหน่วยงานใดจะทำฝายจะต้องเป็นฝายถาวรเท่านั้น ตัวฝายจะต้องหุ้มหินด้วยตะแกรงลวดเท่านั้น ราคาต้องควรเริ่มจาก 3-7 หมื่นบาทตามแบบกรมชลประทาน ขึ้นอยู่กับความกว้างและความสูงของลำน้ำ ไม่สามารถทำฝายชั่วคราวหรือถุงปุ๋ยวางเรียงในเขตป่าอนุรักษ์ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ทำหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด 67 จังหวัดที่มีแผนสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งก่อสร้างหรือซ่อมแซมฝายไม่เกิน 30,000 ฝาย งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ตามงบกลางปี 62 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่าจ้างแรงงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และจ้างแรงงานไทยเท่านั้น หากไม่เพียงพอ ให้จ้างคนที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันก่อนอันดับแรก หากยังไม่พอให้คนที่ภูมิลำเนาจังหวัดอื่นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น