น่าน - ตามส่อง “ข้าวหลามป้าเพ็ญ” หนึ่งในตำนานของดีวิถีถิ่นคนน่าน สืบทอดสูตรลับทำข้าวเหนียวนิ่ม-สารพัดไส้ทะลักล้นกระบอก ล่าสุดลูกชายนักออกแบบกลับบ้านเกิดร่วมต่อยอด ปรับทั้งแพกเกจ กระบวนการผลิต ตลาดออนไลน์ รับกระแสโลกใหม่
ต้องยอมรับว่าหนึ่งในสินค้าที่สะท้อนถึงวิถีถิ่นคนเมืองน่าน ที่นักท่องเที่ยว รวมทั้งผู้คนในพื้นที่นิยมซื้อหามารับประทานคือ “ข้าวหลาม” และหนึ่งในข้าวหลามแถวหน้าของเมืองน่าน หลายคนยกให้เป็นตำนานคือ “ข้าวหลามป้าเพ็ญ” ตั้งเตาเผาข้าวหลามขายอยู่บ้านเลขที่ 114 บ้านดอนไชย ต.ศิลาเพชร อ.ปัว จ.น่าน จากรุ่นสู่รุ่นมายาวนานกว่า 11 ปี
“ข้าวหลามป้าเพ็ญ” เป็นข้าวหลามเจ้าแรกของจังหวัดน่านที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. มาตั้งแต่ปี 2558 และล่าสุดก็อยู่ระหว่างการสืบทอดจากแม่สู่ลูก นำไปสู่การปรับแนวทางธุรกิจเข้ากับโลกยุคใหม่ได้อย่างน่าสนใจ
นางศรีวรรณ นาคอ้าย อายุ 62 ปี หรือป้าเพ็ญ เล่าว่า ข้าวหลามป้าเพ็ญสืบทอดเทคนิคและสูตรเฉพาะแบบโบราณมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ทั้งการแช่ข้าวเหนียว-เผาข้าวหลาม มีเทคนิคที่ทำให้ข้าวเหนียวมีความนิ่ม ไม่แฉะ และมีความหอมกะทิพอดี รสชาติไม่หวาน เค็มหรือมันจนเกินไป และเน้นไส้ที่ต้องใส่ให้มาก ไม่ใช่แค่ราดหน้าแค่หัวกระบอก
เดิมทีมีไส้เหมือนทั่วๆ ไป คือ ไส้สังขยา ไส้ถั่วดำ ไส้เผือก ไส้งา ต่อมาก็เริ่มพัฒนาไส้อื่นๆ เพื่อให้เป็นทางเลือกของผู้บริโภค โดยได้ทดลองเริ่มทำไส้ใหม่ๆ ออกมาลองตลาดอยู่เสมอ ทั้งไส้หน่อไม้ ไส้มะพร้าวอ่อน ไส้กล้วยหอม ไส้มันม่วง ไส้น้ำพริกเผา ไส้ปลาย่าง ไส้งาม่อน และอื่นๆ อีก รวม 14 ไส้ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มไส้ในช่วงตามฤดูกาลต่างๆ ด้วย เช่น ไส้ทุเรียน ไส้มะม่วง ไส้สับปะรด
และด้วยไส้ที่มีมากมายหลากหลาย รวมทั้งตัวเนื้อข้าวเหนียว ก็มีทั้งข้าวเหนียว ข้าวเหนียวอัญชัน ข้าวเหนียวใบเตย ข้าวเหนียวก่ำ สร้างสีสันสวยงาม ที่สำคัญคือความสะอาดและคุณภาพของวัตถุดิบ ต้องทำวันต่อวัน ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของนักชิม และนักท่องเที่ยว จนต้องซื้อกลับไปเป็นของฝากด้วย
ป้าเพ็ญยืนยันว่าข้าวหลามป้าเพ็ญสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 2-3 วันโดยไม่ต้องใส่ตู้เย็น แต่หากต้องการเก็บไว้ได้นานกว่านั้นประมาณ 5-6 วัน สามารถนำใส่ในตู้เย็นได้ และเมื่อต้องการรับประทานให้นำเข้าไมโครเวฟ ก็จะได้ข้าวหลามที่ข้าวเหนียวยังนุ่มและไส้ทะลัก
ด้านนายเอกสิทธิ์ นาคอ้าย อายุ 36 ปี ลูกชายที่เรียนจบและทำงานด้านการออกแบบและกราฟิกดีไซน์ ที่ได้กลับบ้านเกิดจังหวัดน่านเพื่อช่วยสานต่อธุรกิจครอบครัว เล่าว่า หลังจากเรียนจบและหาประสบการณ์ทำงานที่กรุงเทพมหานครแล้ว ตั้งใจกลับบ้านเพื่อช่วยกิจการของครอบครัว
ในช่วง 6 ปีที่กลับมาช่วยดูแลงานข้าวหลามป้าเพ็ญ ได้พัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์หรือแพกเกจจิ้งที่สวยงาม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้กระดาษออกแบบให้เป็นตัวรัดกระบอกข้าวหลามเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกและสร้างเอกลักษณ์ของสินค้าด้วย รวมทั้งยังพัฒนาเตาเผาข้าวหลามให้มีความร้อนแต่ใช้ปริมาณถ่านน้อย เพื่อลดควันไฟที่จะกระทบต่อสุขภาพของคนเผาข้าวหลามและสิ่งแวดล้อม
“จากเดิมที่กระบอกข้าวหลามมีความยาวประมาณ 80 เซนติเมตร ใกล้เคียงกับหลอดไฟตามบ้าน และต้องใช้การเผาข้าวหลามแบบดั้งเดิม แต่เนื่องจากปัจจุบันไม้ไผ่ข้าวหลามมีช่วงความยาวลดน้อยลง จึงได้มีการปรับเปลี่ยนขนาดเตาเผา ตัวบรรจุภัณฑ์ ให้มีความเหมาะสมต่อการขนส่งและการรับประทานด้วย”
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาการตลาดให้ทันยุคทันสมัยมากขึ้น มีการเปิดตลาดออนไลน์ เปิดแฟนเพจเพื่อให้ลูกค้าติดต่อสั่งข้าวหลามได้ และสามารถจัดส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งปัจจุบันส่งได้ภายในวันเดียวถึงมือลูกค้า โดยจะส่งให้เฉพาะในเขตจังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนจังหวัดในเขตภาคตะวันออก ภาคอีสาน และภาคใต้ จะได้เพียงบางจังหวัด เนื่องจากระยะทางการขนส่งหลายวันจะกระทบต่อคุณภาพของข้าวหลามได้
นายเอกสิทธิ์บอกว่า ปกติข้าวหลามป้าเพ็ญขายได้วันละประมาณ 200-400 กระบอก โดยจะมีลูกค้าทั้งในพื้นที่จังหวัดน่าน ต่างจังหวัด และพ่อค้าแม่ค้ารายปลีกย่อยมาสั่งจองทุกวัน แต่ช่วงไฮซีซันที่จะถึงนี้คาดว่าต้องผลิตข้าวหลามป้าเพ็ญเพิ่มขึ้นอีกกว่า 50% เป็นวันละประมาณ 450-600 กระบอก ซึ่งไม่สามารถผลิตได้มากกว่านี้เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านแรงงานและการเผา
สำหรับผู้ที่สนใจ-ชื่นชอบข้าวหลาม สามารถสอบถามรายละเอียดการสั่งซื้อได้ที่แฟนเพจ “ข้าวหลามป้าเพ็ญ อ.ปัว จ.น่าน”