ปราจีนบุรี - มากสุดในประวัติศาสตร์.. จนท.ชุดเดินเท้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบซากช้างป่าตกหน้าผาตายเพิ่มอีก 5 ตัวบริเวณธารน้ำตกเหวนรกชั้น 2 คาดเป็นช้างโขลงเดียวกับที่ตายไปก่อนหน้า 6 ตัว ชี้สูญเสียมากกว่าปี 2553 พร้อมเร่งดูแลช้าง 2 แม่ลูก รอดชีวิตให้กลับเข้าป่าโดยปลอดภัย
จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ชุดผลักดันช้าง ได้ทำการผลักดันช้างป่าจำนวนมากที่เข้ามาเดินอยู่บริเวณถนนสาย 3077 ปราจีนบุรี (เนินหอม-ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่) จนทำให้มีช้างป่าพลัดตกน้ำตกเหวนรก เมื่อวันที่ 3-4 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีช้างป่าเสียชีวิตรวม 6 ตัวนั้น
ในวันนี้ ( 8 ต.ค.) นายณัฐพงษ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก พร้อมด้วย นายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่,พ.อ.ปฏิวัติ เฟื่องประภัสสร์ รอง เสธ.พล.ร.2 รอ.(1) , ผช.หน.ฝกร.พล.ร.2 รอ. ,และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ช้างป่าพลัดตกเหวบริเวณน้ำตกเหวนรก เมื่อวันที่ 3-4 ต.ค.ที่ผ่านมา
โดยบอกว่าหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้จัดชุดเดินเท้าออกลาดตระเวนดูซากช้างที่เสียชีวิต ซึ่งขณะสำรวจบริเวณแนวลำธารน้ำตกชั้นที่ 2 ยังได้พบซากช้างป่าอีก 5 ตัว นอนตายกระจัดกระจายในร่องลำธาร จึงทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวมีช้างป่าเสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 11 ตัว
และยังเชื่อว่าน่าจะช้างป่าโขลงเดียวกันที่มีจำนวนทั้งสิ้น 13 ตัว ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ, ป่าไม้ ,ฝ่ายปกครอง และทหาร ได้ช่วยเหลือช้างสองแม่ลูกที่ยังรอดชีวิตและติดอยู่ที่บริเวณหน้าผาด้วยการนำกล้วย สับปะรดผสมวิตามินและเกลือแร่โยนลงไปให้ช้างแม่ลูกซึ่งมีทีท่าอ่อนแรงได้กินประทังชีวิต จนสามารถเดินข้ามห้วยไปได้
โดยมีหลักฐานยืนยันการรอดชีวิตของช้างป่า 2 แม่ลูกคือการตรวจพบรอยเท้าและมูลช้างตามทางเดินเข้าป่า และยังพบรอยเท้าชัดเจนบริเวณร้านค้าด้านบนน้ำตกเหวนรก ทำให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ยังคงเฝ้าสังเกตและหารอยเท้าช้างสองแม่ลูกว่ากลับเข้าป่าไปแล้วหรือไม่ และยังได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เดินเท้าแบบหน้ากระดานกว่า 70 นาย เพื่อตามแกะรอยเท้าช้างป่าเพื่อให้แน่ใจว่าเดินไปในทิศทางใด
ทั้งนี้เหตุการณ์ช้างป่าพลัดตกเหวที่ทำให้มีช้างตายมากถึง 11 ตัว ถือเป็นการสูญเสียสัตว์ใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ หลังจากที่เมื่อปี 2535 ที่ผ่านมา เคยเกิดเหตุช้างป่าตกหน้าผาตายพร้อมกันถึง 8 ตัว ไปแล้ว
ส่วนแนวทางป้องกันช้างป่าพลัดตกเหวระยะสั้น คือการเร่งซ่อมแซมเพนียดเดิมให้มีความแข็งแรงมากขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยพระจอกเกล้าฯ พระนครเหนือ จัดทำเซ็นเซอร์ตรวจสอบความเคลื่อนไหวบริเวณเพนียดช้าว และจุดสกัดช้าง
ขณะที่แนวทางป้องกันในระยะยาวคือการจัดทำเส้นทางเบี่ยงบนเส้นทางเดิน หรือทำแนวทางข้ามให้ช้างเดินผ่านหน้าผาได้โดยไม่มีอันตราย รวมทั้งการสร้างโปร่งและแหล่งอาหารให้อยู่ห่างจากแนวเพนียดเพื่อป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นอีก