xs
xsm
sm
md
lg

“แม่เมืองแพร่” เร่งแก้ปัญหาภัยแล้งหน้าฝน สั่งชลประทานสำรวจ 37 อ่างฯ-นัดหารือใหญ่พรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพร่ - ผู้ว่าฯ เมืองแพร่คนใหม่ลงพื้นที่ดูให้เห็นกับตา..อ่างแม่ลองแห้งขอดทั้งที่ยังไม่ทันสิ้นฝน พร้อมสั่งชลประทานสำรวจสถานการณ์น้ำต้นทุน 37 อ่างทั่วจังหวัดฯ นัดผู้นำชุมชนหารือแผนสู้แล้งพรุ่งนี้

หลังจากที่ชาวนาในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของจังหวัดแพร่ โดยเฉพาะ อ.วังชิ้น อ.ลอง และ อ.เด่นชัย ประสบปัญหาภัยแล้งฝนตกน้อยกว่าปกติ น้ำไม่พอทำนา-อ่างเก็บน้ำแม่ลอง ต.บ่อเหล็กลอง อ.ลอง จ.แพร่ แหล่งน้ำต้นทุนที่เคยหล่อเลี้ยงผืนนากว่า 1 พันไร่แห้งขอด ต้นข้าวกำลังขาดน้ำรอวันแห้งตายเป็นวงกว้างนั้น

นางกานต์เปรมปรีดิ์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ คนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการก็เดินทางไปดูสภาพของอ่างเก็บน้ำ และพบกับชาวบ้านในบ้านบ่อเหล็กลอง เครือข่ายการใช้น้ำของอ่างเก็บน้ำแม่ลองเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ชาวบ้านที่ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำแห่งนี้กล่าวว่า น้ำในอ่างแม่ลองไม่เคยแห้งมาก่อน แต่ปีที่ผ่านมาเกิดภัยแล้งยาวนาน ในช่วงปลูกข้าวปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ ต้องใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ลอง เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนปีนี้ฝนก็ตกช้าและน้อยกว่าปกติ ทำให้น้ำไม่ลงอ่าง ขณะที่ชาวนาต้องใช้น้ำ จึงปล่อยน้ำทำนาจนน้ำในอ่างแห้ง

“ณ ขณะนี้ต้นข้าวยังไม่ออกรวงแต่น้ำในอ่างไม่เพียงพอแล้ว และไม่สามารถจัดหาน้ำจากที่อื่นมาได้ พื้นที่ทำนากว่า 1,000 ไร่จึงขาดแคลนน้ำอย่างหนัก และมั่นใจว่าข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่จะไม่ได้ผลอย่างแน่นอน”

นางกานต์เปรมปรีดิ์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า หลังจากทราบข่าวเกษตรกรประสบภัยแล้งก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงลงมาดูพื้นที่พบว่านาข้าวบริเวณอ่างเก็บน้ำแม่ลองกว่า 1,000 ไร่กำลังจะได้รับความเสียหาย การแก้ไขที่ดีที่สุดขณะนี้คือต้องเร่งทำฝนเทียมหรือฝนหลวงให้มากขึ้น และเน้นในจุดที่มีสภาวะแห้งแล้งทั้ง อ.วังชิ้น อ.ลอง อ.เด่นชัย

พร้อมกับให้กรมชลประทานสำรวจอ่างเก็บน้ำในจังหวัดแพร่ทั้งหมด 37 อ่างว่ามีสภาพอย่างไร ประชาชนเดือดร้อนขนาดไหนเพื่อหาทางช่วยเหลือ และในวันพรุ่งนี้ (8 ต.ค.) จะเชิญหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง เข้าหารือร่วมกันเพื่อวางแผนแก้ปัญหาให้แก่ชาวแพร่โดยเร่งด่วน

ส่วนในระยะยาวคงต้องขุดลอก หรือสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ การทำบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร หรือการฟื้นฟูป่า ฟื้นฟูลุ่มน้ำ ที่จะต้องเร่งทำ ซึ่งถ้าสุดวิสัยชาวนาได้รับความเสียหายทางจังหวัดฯ มีมาตรการในการเยียวยาไว้พร้อมแล้ว คือ การจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายไร่ละ 1,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น