xs
xsm
sm
md
lg

คอนแทรคฟาร์มมิ่งข้าวญี่ปุ่นโตตามลองสเตย์ 3 จว.เหนือปลูกแล้ว 3 หมื่นไร่ ขายทั้งใน-ตปท.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เชียงราย – ลองสเตย์ขยายตัว หนุนคอนแทรคฟาร์มมิ่งข้าวญี่ปุ่นโตตาม บริษัทเอกชนดึงเกษตรกร 3 จว.เหนือปลูกแล้ว 3 หมื่นไร่ ส่งผลผลิตป้อนทั้งใน-ต่างประเทศ พร้อมทำมาตรฐาน GAP รับตลาดเออีซี

ขณะที่ตลาดลองสเตย์ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น เติบโตต่อเนื่องนั้น ทำให้คอนแทรคฟาร์มมิ่งข้าวญี่ปุ่น ขยายตัวตามไปด้วย โดยศูนย์วิจัยข่าวเชียงราย ระบุว่ามีบริษัทเอกชนเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกแล้วหลายจังหวัดภาคเหนือ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน รวมเนื้อที่ปลูกประมาณ 30,000 ไร่

สำนักงานเกษตร จ.เชียงราย แจ้งว่าเฉพาะพื้นที่เชียงราย ก็มีเอกชนหลายรายร่วมกับเกษตรกรปลูกข้าวสายพันธุ์ ก.วก.1 และพันธุ์ ก.วก.2 ซึ่งเป็นข้าวญี่ปุ่นที่มีเมล็ดเล็กป้อม-มีกลิ่นหอมกันเป็นบริเวณกว้าง ตามข้อมูลจนถึงเดือนกันยายน 62 พบว่ามีพื้นที่ปลูกรวมกันทั้งจังหวัดประมาณ 4,281.38 ไร่ มีเกษตรกรที่ทำการปลูกจำนวน 566 ราย

พื้นที่ที่มีการปลูกมากที่สุดคือ อ.พาน 1,948 ไร่ เกษตรกร 249 ราย รองลงมาคือ อ.เวียงป่าเป้า 1,601.17 ไร่ เกษตรกร 215 ราย ส่วนพื้นที่อื่นๆ คือ อ.เมืองเชียงราย 109.55 ไร่ เกษตรกร 17 ราย , อ.เวียงชัย 102.01 ไร่ เกษตรกร 15 ราย , อ.แม่จัน 268.77 ไร่ เกษตรกร 33 ราย , อ.แม่สาย 14.25 ไร่ เกษตรกร 2 ราย , อ.แม่สรวย 10.97 ไร่ เกษตรกร 2 ราย ,อ.แม่ลาว 211.91 ไร่ เกษตรกร 31 ราย และ อ.เวียงเชียงรุ้ง 14.75 ไร่ เกษตรกร 2 ราย เป็นต้น

ด้านนายพัฒนา สิทธิสมบัติ อดีตประธานหอการค้า จ.เชียงราย และปัจจุบันเป็นประธานบิสคลับ ประเทศไทย กล่าวว่าชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอาศัยหรือพำนักระยะยาวในพื้นที่ จ.เชียงราย เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเขต ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียราย และอื่นๆ และคนเหล่านี้ได้นำเอาองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตข้าวญี่ปุ่นมาด้วย จนมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในปริมาณมากกว่าบริโภคภายในประเทศแล้วด้วย

นายพัฒนา กล่าวอีกว่าการปลูกข้าวในลักษณะดังกล่าวถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร เพราะมีเอกชนรับซื้อที่แน่นอน เมื่อนำออกสู่ตลาดก็สามารถจำหน่ายเป็นข้าวสารได้ในราคากิโลกรัมละประมาณ 60 บาท และเป็นที่นิยมบริโภค รวมทั้งยังกระจายไปยังตลาดทั่วประเทศโดยเฉพาะตามโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ฯลฯ และส่งออกต่างประเทศได้อีกทำให้แนวโน้มอาจจะมีการขยายการปลูกขึ้นอีกเรื่อยๆ

ทั้งนี้ปัจจุบันมีเอกชนที่ส่งเสริมการปลูกข้าวญี่ปุ่นหลายราย เช่น โรงสีข้าวเกริก อ.เมืองเชียงราย , บริษัทพีแอนด์พี โกะเมะยะ จำกัด อ.เมืองเชียงราย , บริษัทอานันทพร จำกัด อ.เมืองเชียงราย , โรงสีข้าวจิราภรณ์ อ.แม่สรวย , บริษัทเจปอนนิก้าไรซ์ จำกัด อ.แม่จัน , บริษัททนาเกรน จำกัด อ.พาน บริษัทข้าว ซี.พี.จำกัด เป็นต้น ส่วนใหญ่มีการทำสัญญารับซื้อข้าวเปลือกความชื้นไม่เกิน 25% จากเกษตรกรที่กิโลกรัมละ 8-11 บาท

นอกจากนี้ยังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐยกระดับมาตรฐานการผลิต โดยเฉพาะประชาสัมพันธ์เรื่องความปลอดภัย เช่น การผลิตในระบบ GAP หรืออินทรีย์ (Organic) เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการส่งออกตลาดต่างประเทศด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น