อุบลราชธานี - เริ่มอลเวงเงินบริจาคช่วยชาวบ้านน้ำท่วม สาวใหญ่ร้องผู้นำชุมชนไม่รับรองสิทธิ เหตุย้ายออกจากบ้านน้ำท่วมกว่า 10 ปีแต่เจ้าตัวขอใช้สิทธิตามทะเบียนบ้าน ด้าน “บิณฑ์” ถูกโซเชียลมโนโจมตีหนัก ซ้ำมีผู้นำชุมชนหักหัวคิวเงินช่วยเหลือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเที่ยงวันนี้ (22 ก.ย.) ที่จุดอพยพชุมชนวัดกุดคูณ อำเภอเมืองอุบลราชธานี นายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ นายเอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ พร้อมด้วยดารานักแสดงตลก กล้วยเชิญยิ้ม ยาว ลูกหยี เดินทางมามอบเงินบริจาคของคนไทยทั้งประเทศให้ชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมรวม 5 ชุมชน 318 ครัวเรือน ก่อนจะเดินทางไปอีก 2 จุดในช่วงบ่ายวันเดียวกัน
โดยจุดดังกล่าวมีจิตอาสา ประชาชน ทหารนำอาหารสดมาปรุงเลี้ยงผู้อพยพด้วย เมื่อนายบิณฑ์มาถึงได้มีการพบปะพูดคุยกับชาวบ้าน พร้อมกล่าวถึงความอึดอัดใจที่ถูกกล่าวหาว่าเปิดบัญชีมาทำการฟอกเงิน เป็นไปไม่ได้ที่เพียงข้ามคืนจะมีเงินเข้ามาหลายร้อยล้านบาท และอีกหลากหลายข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง ทั้งหมดสามารถที่จะตรวจสอบกับทางธนาคารได้มีสลิปการโอนเป็นแสนๆ ใบ
“ขณะนี้ความดีใจของผมก็ตามมาด้วยความทุกข์ แต่ความทุกข์ของผมก็หายไปด้วยความสำเร็จที่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้มีความสุขได้ด้วยเงินของพี่น้องประชาชนที่บริจาคมา” นายบิณฑ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างทีมงานกำลังแจกเงินให้แก่ชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย นางประภัสสร ผลรักษ์ อายุ 44 ปี ชาวบ้านชุมชนแสนตอ มาเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวที่ตามข่าวว่า บิดาของตนคือ นายกวาง เหงี่ยน อายุ 61 ปี มีบ้านพักอยู่ในชุมชนแสนตอเช่นเดียวกันกับคนอื่น แต่ได้ย้ายออกไปมีภรรยาใหม่ในอำเภอวารินชำราบ ซึ่งก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้ขอใช้สิทธิดังกล่าวในเขตอำเภอวารินชำราบ
โดยกลับมาขอใช้สิทธิรับเงินจำนวน 5,000 บาทตามทะเบียนบ้านที่ชุมชนแสนตอวันนี้ แต่ผู้นำชุมชนไม่ยอมรับรองให้ โดยอ้างว่าไม่ได้อยู่ในชุมชนมานานแล้ว จึงอยากจะมาสอบถามคุณบิณฑ์และทีมงานให้ชัดเจนว่าตนมีสิทธิที่จะได้รับเงินหรือไม่
ประเด็นนี้ นางสาวเดือนเต็ม ดวงศรี ผู้นำชุมชนกุดแสนตอชี้แจงว่า หลังจากที่ได้รับการติดต่อจากทีมงานของคุณบิณฑ์แล้ว ได้มีการประชุมรับทราบกฎกติกาการเข้ารับเงินช่วยเหลือครอบครัวละ 5,000 บาท และนายกวาง เหงี่ยน อดีตเคยพักอาศัยในชุมชนจริง แต่ได้ย้ายออกไปจากชุมชนหลายปีแล้ว บ้านถูกปล่อยเป็นบ้านร้าง ไม่มีคนพักอาศัยแม้จะถูกน้ำท่วมก็ตาม กรรมการชุมชนจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่ให้ครอบครัวของนายกวางได้รับเงินช่วยเหลือจากนายบิณฑ์ เพราะเกรงจะเกิดความไม่เป็นธรรมแก่ครอบครัวอื่นที่ยังพักอาศัยในชุมชนตามปกติ
ซึ่งกรณีนี้หน่วยงานราชการที่จะเข้ามาฟื้นฟูหลังน้ำลดจะเข้าตรวจสอบร่วมกับผู้นำชุมชนอีกครั้งว่าควรได้รับสิทธิช่วยเหลืออื่นๆ อีกหรือไม่
นอกจากนี้ นายเอกพันธ์ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวกรณีมีเพจชื่อดังในจังหวัดอุบลราชธานีแชร์ข้อความไม่โปร่งใสของผู้นำชุมชนในบางพื้นที่ มีการหักหัวคิวจากชาวบ้านที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากนายบิณฑ์ครอบครัวละ 300-500 บาท เพื่อแลกกับการได้รับเงินบริจาค 5,000 บาท โดยเป็นเรื่องจริง และเป็นการสมยอมระหว่างผู้ประสบภัยกับผู้นำชุมชนเองที่เกรงว่าจะไม่ได้รับเงิน
ถือเป็นพฤติกรรมที่แย่มากที่ไปหักหัวคิว ถามว่าเงิน 5,000 บาทมากไหม ก็ไม่ถือว่ามาก แต่ยังไปหักเงินชาวบ้านอีก ตอนนี้ทราบตัวผู้ที่ดำเนินการแล้ว และทางราชการจะเข้าดำเนินการต่อผู้นำชุมชนที่ทำเช่นนั้น โดยทีมงานไม่มีสิทธิที่จะไปจัดการอะไรได้
แต่จะมีการเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดในการแจกเงินช่วยเหลือ โดยการประสานไปยังนายอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ให้ตรวจสอบก่อนจะแจกเงินให้แก่ผู้ประสบภัย เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของคนที่เห็นแก่ได้
พร้อมกันนี้ ฝากถึงผู้ที่คิดทำ มนุษย์มีรัก โลภ โกรธ หลง ถ้าสามารถตัดสิ่งเหล่านี้ออกไปได้ชีวิตจะเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น และขอให้ผู้นำชุมชนมีจิตสำนึกที่ดี นึกถึงชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน อย่าถือโอกาสไปเบียดเบียนเขาเลย
ขณะเดียวกัน นางอุมาพร จำปา พนักงานขายนมเปรี้ยวบริษัทแห่งหนึ่ง ได้พาลูกสาวฝาแฝดวัย 9 ขวบ คือ น้องพลอย และน้องแพร มาขอพบนายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากน้องทั้งสองมีปัญหาเรื่องสายตา และแว่นตาใช้มานานหลายปีเกิดชำรุดพังเสียหายต้องใช้กาวติดไว้ ทำให้เกิดอุปสรรคในการเรียน ซึ่งแว่นสายตาของน้องทั้ง 2 คนมีราคาแพงกว่าปกติ แต่ตนมีรายได้จากการขายนมเปรี้ยว ส่วนสามีได้ทิ้งลูกไปตั้งแต่ยังเล็กๆ
ที่ผ่านมาช่วงวันหยุดเรียน น้องพลอย และน้องแพรได้มาช่วยแม่ขายนมเปรี้ยว โดยได้ค่าแรงจากการขายนมโหลละ 10 บาทเพื่อหาเงินตัดแว่นสายใหม่ แต่ก็ยังรวบรวมได้ไม่ครบสักที จึงหวังมาขอให้พี่บิณฑ์ช่วยเหลือ แต่หากไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
เมื่อนายบิณฑ์ทราบเรื่องได้รับปากจะออกเงินค่าตัดแว่นให้แก่คู่แฝดทั้งสองคนเอง ก่อนมอบเงินสดให้น้องพลอย และน้องแพรไว้ใช้จ่ายคนละ 2,000 บาท ระหว่างนั้นน้องพลอยได้ถามพี่บิณฑ์ว่า มีแบงก์ 100 บาท มั้ยคะ เพราะแบงก์ 1,000 บาทมันเยอะเกินไป และดีใจที่ได้เงินเยอะ แต่มันเยอะเกินไปสำหรับตน
ต่อมานายศรายุทธ พัฒนาสันติชัย อายุ 52 ปี เจ้าของร้านอุบลการแว่น ร้านตัดแว่นเก่าแก่ของเมือง ตั้งอยู่ถนนเขื่อนธานี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี ทราบเรื่องจากเพื่อนมีน้องผู้หญิง 2 คนเข้าไปพบนายบิณฑ์ขอให้ช่วยเหลือตัดแว่นสายตาให้ ตนจึงยินดีรับช่วยเหลือแทน เพื่อให้นายบิณฑ์ไปทำเรื่องช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยต่อ โดยไม่ต้องมาพะวงกับน้องทั้งสองคน
ทั้งนี้ จากการตรวจวัดสายตาเด็กทั้ง 2 พบว่าน้องพลอยสายตาสองข้างไม่เท่ากัน ตาขวาลบ 400 เอียงลบ 200 ตาซ้ายลบ 550 เอียงลบ 300 ส่วนน้องแพรน้องสาว ขวาและซ้ายลบ 650 เอียงลบ 300 ซึ่งสั้นและเป็นปัญหาต่อการใช้สายตามมาก และเลนส์ของน้องทั้งสองคนไม่มีอยู่สต๊อก รวมทั้งหากใช้เลนส์แบบเก่าที่มีความหนาก็จะหนักมาก
ตนจึงสั่งเลนส์แบบมัลติโค้ดที่บางและเบาเพื่อสะดวกในการใช้งาน ราคาเลนส์รวมกรอบ 2 แว่นก็ 8,000 บาท ทำให้น้องทั้งสองคนได้ใช้ เพื่อเป็นการทำบุญร่วมกับพี่บิณฑ์ด้วย เจ้าของร้านอุบลการแว่นกล่าวในที่สุด