xs
xsm
sm
md
lg

ม.ขอนแก่นเดินหน้าผลิตบัณฑิตสายพันธุ์ใหม่ป้อนตลาดแรงงานยุค AI

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ม.ขอนแก่นเตรียมพร้อมบัณฑิตรับมือเรียนการสอนสู่โลกเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI เชิญผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นบรรยายพิเศษ เตรียมพร้อมผลิตบัณฑิตป้อนตลาดแรงงานยุค AI ที่มีประสิทธิภาพ ด้านผู้เชี่ยวชาญพร้อมสนับสนุนเต็มที่

วันนี้ (20ก.ย.62) ที่ห้องประชุมสุกิจจา อาคารพิมลกลกิจ (ตึกสำนักทะเบียน) มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทอง วิริยะกุล ที่ปรึกษารักษาการแทน อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเปิดการบรรยายเรื่อง “ระบบ AI สำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุค 4.0 การพัฒนาหลักสูตรของญี่ปุ่นและเอเปค” โดยมี Prof.Masami Isoda ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จาก University of Tsukuba, รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา, รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ,

ผศ.ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษา, รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ คณบดีคณะสัตวแพทย์ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยคณาจารย์ที่เกี่ยวข้อง และนักศึกษาระดับปริญญาเอก คณิตศาสตร์ศึกษา ร่วมรับฟังการบรรยาย
Prof.Masami Isoda ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จาก University of Tsukuba
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ที่ปรึกษารักษาการแทน อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และกำลังจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต การบรรยายครั้งนี้ ได้เชิญ Prof.Masami Isoda ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ประจำ University of Tsukuba มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นได้มาบรรยาย ซึ่งอยากให้นักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เข้าใจ AI ใน 2 เรื่องหลักคือ จะเตรียมคนหรือผลิตบัณฑิตให้เข้ากับยุค AI ได้อย่างไร

ทั้งต้องเข้าใจว่า AI จะมาทำงานแทนแรงงานในอนาคต แต่มีงานบางส่วนที่ AI ทำไม่ได้ นักศึกษาต้องเตรียมพร้อมทำงานในส่วนที่ AI ทำแทนไม่ได้ อาทิงานด้านมนุษย์สัมพันธ์ งานความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น มข.ต้องเตรียมบัณฑิตให้พร้อมทำงานยุค AI และต้องสร้างเด็กให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีมนุษยสัมพันธ์ ที่สำคัญอีกด้านคือบัณฑิตม.ขอนแก่น ต้องรู้เรื่องของ AI ว่าทำงานอย่างไร ทั้งเรื่อง Machine Learning การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ จำเป็นที่นักศึกษามข.ต้องมีความรู้ทั้ง 2ด้านนี้
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ที่ปรึกษารักษาการแทน อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ด้าน Prof.Masami Isoda ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จาก University of Tsukuba กล่าวว่า ทั้งสองมหาวิทยาลัยมีการพัฒนาหลักสูตรจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เบื้องต้นได้เริ่มพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน AI ชั้นม.ปลายก่อน สิ่งที่เน้นคือ Programming ปัจจุบันมีเครื่องมือคือหุ่นยนต์ ฝึกเด็กให้แก้ปัญหาได้เอง โดยมีอาจารย์มาประจำอยู่ที่ ม.ขอนแก่น จะเน้นฝึกอบรมทั้งนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ให้สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อได้

กับอีกส่วนคือการฝึกอบรมครูประจำการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะตอนนี้เรื่อง Programming ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการได้เน้นในหลักสูตร ใช้ชื่อว่าวิทยาการการคำนวณ ถือเป็นทิศทางของโลก รวมทั้งประเทศไทยกำลังก้าวไปในทิศทางดังกล่าว ส่วนประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย Tsukuba ได้เป็นเจ้าจัดประชุมกลุ่ม G20 ที่เน้นด้าน AI ในนามที่เป็นผู้ประสานงาน จะเสนอความร่วมมือกับมข.ด้าน AI ในทุกมิติทั้งสุขภาพ การศึกษา ฯลฯ

ด้านรศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นและ University of Tsukuba มีความร่วมมือทางวิชาการมายาวนานมากกว่า 15 ปี ต่อมาได้ขยายความร่วมมือไปด้านอื่นได้แก่การแพทย์, การเกษตร, มนุษยศาสตร์และศึกษาศาสตร์ University of Tsukuba เป็นมหาวิทยาลัยที่มีผลงานวิจัยก้าวหน้าระดับโลกหลายด้าน ได้รับรางวัล Nobel ถึง 3 คน ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในปัจจุบันคือสิ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าจากมนุษย์ เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุในชุมชน นอกจากนี้ปี 2019 ถึง 2020 ได้เสนอโครงทางด้าน AI for Education ใน HRDWG ของเอเปค ซึ่งมี 20 ประเทศในกลุ่มเอเปค เข้าร่วมโครงการดังกล่าวนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น