ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวบ้าน 4 ตำบลใน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โวย กฟผ. รอนสิทธิมัดมือชกทำเสาไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 และ 230 กิโลโวลต์ตามแผนขยายระบบสาธารณูปโภคของรัฐ แต่กลับตัดผ่านที่ดินการเกษตรโดยไม่ทำประชาพิจารณ์ รวมตัวร้องสภาทนายความช่วย
วันนี้ (19 ก.ย.) กลุ่มชาวบ้านจากพื้นที่ 4 ตำบล ประกอบด้วย เขาไม้แก้ว ตะเคียนเตี้ย หนองปลาไหล และ ต.โป่ง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี กว่า 30 คน ได้เดินทางเข้าพบ นายเฉลิมวัฒน์ วิมุกตายนต์ ประธานสภาทนายความเมืองพัทยา และนายปัณฑสัฒฐ์ พิมพ์สกุล เลขาธิการสภาฯ ที่อาคารแมคนามาตาร์ พัทยาใต้ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เพื่อร้องขอความเป็นธรรม หลังมีหนังสือจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ส่งถึงชาวบ้านใน 4 อำเภอ
โดยแจ้งว่า จะมีการจัดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงขนาดใหญ่ผ่านที่ดินทางการเกษตรของชาวบ้าน ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นการทำแบบ “มัดมือชก” ด้วยไม่แจ้งเรื่องการสำรวจ หรือทำประชาพิจารณ์จากชาวบ้านแต่อย่างใด
แต่กลับมีหนังสือแจ้งว่าจะเข้าดำเนินการซึ่งแม้จะมีการประชุมกลุ่มย่อยและชาวบ้านทุกรายได้พากันโต้แย้งและอุทธรณ์ไปแล้ว แต่กลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
นายวิชาญ บำรุงยา สมาชิกสภาเทศบาลตำบลโป่ง ผู้ได้รับความเดือดร้อนซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ.พาดผ่านพื้นที่รวม 10 ไร่
พร้อมบอกว่าในฐานะตัวแทนชาวบ้าน ต.โป่ง ขอชี้แจงว่าในปี 2561 ได้มีเจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้าเข้ามาสำรวจพื้นที่เพื่อกำหนดเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ ตัดตอนระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ระยอง 2-อ่าวไผ่ ลงสถานีไฟฟ้าย่อยบางละมุง 2 และระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ตัดตอนระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ระยอง 2-บ่อวิน ลงสถานีไฟฟ้าย่อยบางละมุง 2
ต่อมา ในปี 2562 ได้มีการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าและติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงขนาดใหญ่ รวมทั้งกั้นพื้นที่เซ็ตแบ็กข้างละ 30 เมตรจากฐานพื้นที่รอบเสาไฟเพื่อความปลอดภัยจนกินพื้นที่ของชาวบ้านจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านต้องเสียโอกาสทั้งการทำกินด้านเกษตรกรรมและราคาของที่ดิน
“เหมือนถูก กฟผ.มัดมือชกโดยที่ชาวบ้านไม่มีทางต่อสู้ และที่ผ่านมา ก็ไม่เคยสอบถามหรือจัดทำประชาพิจารณ์ รวมทั้งในการสำรวจทรัพย์สินที่ดินเวนคืนเพื่อจ่ายค่าชดเชยให้เจ้าของที่ดินก็ไม่เพียงพอต่อความรู้สึกและความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงรวมกลุ่มกันมาร้องขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความ” สมาชิกสภาเทศบาลตำบลโป่ง กล่าว
ด้าน นายเฉลิมวัฒน์ วิมุกตายน ประธานสภาทนายความจังหวัดพัทยา กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของชาวบ้านใน 4 ตำบลของอำเภอบางละมุง ซึ่งตามหลักการจัดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงต้องมีการสอบถามความคิดเห็นและประชาพิจารณ์กับชาวบ้านก่อน แต่หน่วยงานดังกล่าวกลับไม่ดำเนินการ ซ้ำยังมีหนังสือถึงชาวบ้านว่าจะใช้ที่ดินในการตั้งเสาขนาดใหญ่
“กรณีนี้ กฟผ.จะทำได้ 2 กรณี คือ 1.การเวนคืน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานนับปี และ 2.การใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ที่สามารถกระทำการได้ เพราะถือเป็นเรื่องของส่วนรวมในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของรัฐ โดยจะทำการสำรวจทรัพย์สินและทดแทนเงินให้แก่เจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองได้ ตามบทบัญญัติในมาตรา 108 ซึ่งแม้ต่อมาจะมีการประชุมร่วมกับชาวบ้านแต่ชาวบ้านก็คัดค้าน โต้แย้ง และไม่ยินยอมให้มีการดำเนินการดังกล่าว”
นายเฉลิมวัฒน์ ยังบอกอีกว่า แต่หากรัฐจะดำเนินการก็ต้องยินยอม เพราะเป็นการกระทำในลักษณะ “มัดมือชก” ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็ต้องนำเรื่องหารือต่อคณะกรรมการของ กฟผ. ว่าจะชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้คุ้มค่าต่อสิ่งที่ชาวบ้านต้องเสียไปหรือไม่ และสภาทนายความพัทยา ยินดีที่จะติดตามให้ เนื่องจากที่ดินในพื้นที่อำเภอบางละมุง มีราคาประเมินค่อนข้างสูง
พร้อมยังบอกอีกว่า ชาวบ้านยังมีโอกาสที่จะทำเรื่องอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการ กฟผ.เพื่อพิจารณาความเหมาะสมตามลำดับ และหากคิดว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องต่อศาลปกครองได้ แต่เชื่อว่าจะต้องมีการเจรจาพูดคุยหาทางออกเพื่อความเป็นธรรมและความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ ทางสภาทนายความจังหวัดพัทยา จะรับข้อร้องเรียนไว้และจากนี้จะได้ทำหนังสือสอบถามแนวทางไปยัง กฟผ.ว่าจะมีความชัดเจนเช่นไร และหากย้ายแนวเขตพื้นที่เสาไฟฟ้าไม่ได้ ก็ต้องมาคุยเรื่องการชดเชยความเสียหายตามลำดับต่อไป