ประจวบคีรีขันธ์ - กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดประชุมใหญ่การบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เชิญเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค องค์กรภาคเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พัฒนามาตรฐานสู่สากล
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานฯ จะจัดประชุมการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติประเทศไทยสู่สากล หรือ Thailand Parks Congress ระหว่างวันที่ 16-18 กันยายน 2562 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์ และร่วมกันหาแนวทางบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ให้สอดรับต่อนโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล ภายใต้พระราชบัญญัติ ระเบียบและกฎหมายฉบับใหม่ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (COP 15) ในปี 2563 ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ผู้อำนวยการส่วนในสังกัดสำนักอุทยานแห่งชาติ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าฝ่ายและหัวหน้าหน่วยงานภาคสนามในสังกัดสำนักอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าวนอุทยาน และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งบุคคลภายนอก ได้แก่ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา นิสิต นักศึกษา และสื่อมวลชน รวมทั้งสิ้น จำนวน 480 คน
ด้าน ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทยคือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จัดตั้งมาแล้วกว่า 57 ปี การประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เป็นการประชุมเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากอุทยานแห่งชาติเป็นพื้นที่สำคัญอันดับแรกของพื้นที่อนุรักษ์ มีจำนวน 155 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นพื้นที่รวมกว่าหนึ่งในห้าของพื้นที่ประเทศ ให้ประโยชน์แก่ประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม
ขณะที่สภาพภูมิอากาศของโลกเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทั้งความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ปัญหาด้านพลังงาน ปัญหาขยะ และอีกหลายๆ ปัจจัยคุกคาม ทำให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานในอุทยานแห่งชาติต้องมีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านนโยบาย กฎหมาย งบประมาณ บุคลากร และองค์ความรู้จากภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติที่ได้มาตรฐานสากลและเกิดความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ
ทั้งนี้ การประชุมฯ ได้เชิญวิทยากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น ด้านนโยบายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการขยะ และการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมุมมองเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติโดยแขกรับเชิญที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและมีหัวใจอนุรักษ์ธรรมชาติ พร้อมการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์จากภาครัฐและเอกชน
นอกจากนั้น นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้เยี่ยมชมนิทรรศการของกรมอุทยานแห่งชาติฯ จัดขึ้น ทั้งการจัดแสดงในเรื่องอากาศยานไร้คนขับ โดรน ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และนำมาใช้ในการสำรวจขอบเขตพื้นที่ป่าของอุทยาน 155 แห่งทั่วประเทศ
โดรนยังสามารถใช้เพื่อการลาดตระเวนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อช่วยในการประเมินและตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ในการจับกุมหรือเลี่ยงการปะทะกับกลุ่มลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ ตลอดจนการประยุกต์ใช้ UAV และกล้องถ่ายภาพความร้อนในการสำรวจสัตว์ปา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาเสริมนอกเหนือจากกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่