xs
xsm
sm
md
lg

ทสม.ระยอง​ หวั่นถมทะเลกว่าพันไร่ในโครงการสร้างท่าเรือมาบตาพุด​ เฟส​ 3​ ทำ​สิ่งแวดล้อมพัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ระยอง​- ผู้ทรงคุณวุฒิ​ ทช.ด้านสิ่งแวดล้อม​ ยื่นหนังสืออธิบดี​ ทช. อธิบดีประมง และ ผอ.สิ่งแวดล้อมภาค 13 กรณีการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด​ เฟส 3​ ที่จะต้องถมทะเลกว่า​ 1 พันไร่​หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อมทางทะเล

วันนี้​ (13 ก.ย.)​ นายสุรินทร์ สินรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดระยองด้านสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดระยอง ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่กรมเจ้าท่า ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 ที่โรงแรมโกลเด้นซิตี้ ระยอง เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และมีประชาชนจากหลายกลุ่มให้ความสนใจเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก​
 
โดยเฉพาะการถมทะเลในเนื้อที่ 1,000 ไร่ การขุดลอกร่องน้ำและแอ่งกลับเรือความลึก 17 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 700 เมตร เพื่อรองรับสินค้าเหลว สินค้าเทกอง และสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ รวมทั้งท่าเทียบเรือ คลังสินค้า บ่อเก็บกักตะกอนและเขื่อนกั้นคลื่นความยาว 1,627 เมตร​ ภายในโครงการ​พัฒนาท่าเรือมาบตาพุด​ เฟส​ 3​ว่า

กระบวนการดังกล่าวได้ทำให้เกิดความสูญเสียทางทรัพยากรธรรมชาติตั้งแต่ผิวน้ำถึงใต้แนวน้ำ รวมทั้งบริเวณใต้ท้องทะเลในเนื้อที่กว่า 1 ล้านตารางเมตร​ รวมทั้งประชากรกุ้ง หอย ปู ปลา ปะการัง หญ้าทะเล สัตว์น้ำหน้าดิน และสัตว์น้ำหากินข้ามถิ่นตามฤดูกาลซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจ และความสูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต

เครือข่าย ทสม.จังหวัดระยอง มีความเห็นว่า ทางผู้ประกอบการควรจะมีการเยียวยาในส่วนของค่าเสียโอกาสและความสูญเสียทางทรัพยากรทางทะเล ด้วยการตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการพัฒนาแหล่งทรัพยากรใหม่ในท้องทะเลที่เหมาะสม เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ ปะการัง และอื่นๆ โดยที่ไม่มุ่งหวังในการเยียวยาจากกลุ่มบุคคลเป็นหลัก

"จึงมีความประสงค์ที่จะขอฐานข้อมูลความหลากหลายทางทะเลบริเวณ 1,000 ไร่ ตั้งแต่บนผิวน้ำ กลางน้ำ และใต้แนวน้ำว่า หากยังคงอยู่ในสภาพเดิมต่อไปจะกระทบเศรษฐกิจหรือรายได้หรือโอกาสต่างๆ คิดเป็นมูลค่าเท่าไร หรือที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดงบประมาณตั้งเป็นกองทุนเพื่อบริหารจัดการ รวมถึงความสูญเสียด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน การกัดเซาะในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้"

นายสุรินทร์ เผยว่า ในวันนี้ยังได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ​ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมประมง และผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) เพื่อให้พิจารณาข้อร้องขอของประชาชนที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม







กำลังโหลดความคิดเห็น