ศูนย์ข่าวศรีราชา- เมืองพัทยา เดินหน้าทางออกปัญหาขยะตกค้างกว่า 7 หมื่นตัน บนเกาะล้าน ล่าสุด เร่งซ่อมเรือขนถ่ายจากเกาะสู่ฝั่ง หลัง มท. อนุมัติขนย้ายขยะใหม่ออกนอกพื้นที่วันละ 20 ตัน ส่วนบ่อขยะเก่าเตรียมระงับใช้รอสร้างเตาเผาทำลายถาวร
วันนี้ (12 ก.ย.) นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา ได้เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาขยะตกค้างบนพื้นที่ชุมชนบ้านเกาะล้าน ที่มีกว่า 7 หมื่นตัน ซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังมานานจนเริ่มส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์ทางการท่องเที่ยว และสร้างมลพิษอย่างต่อเนื่อง ซ้ำปริมาณขยะกลับเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ส่วนการขนย้ายหรือทำลายจากผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญได้เสนอให้มีการสร้างเตาเผาขยะบนเกาะ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการว่าจ้างผู้รับเหมาและดำเนินโครงการ
และคาดว่าคงจะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 ปี จากระเบียบกระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดว่า “ขยะเกิดที่ไหนให้ทำลายที่นั่น”
ทั้งนี้ จากกรณีปริมาณขยะกว่า 70,000 หมื่นตัน บริเวณเขานม หน้าหาดแสม ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมนั้น กรณีดังกล่าว เมืองพัทยาได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ มาสำรวจและศึกษาออกแบบจนได้ข้อสรุปว่า ให้ดำเนินการจัดสร้างเตาเผาขยะขึ้นเพื่อทำลายขยะเก่าและขยะใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของระเบียบราชการ
"อย่างไรก็ตามระบบราชการนั้นต้องผ่านหลายกระบวนการกว่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งอาจต้องใช้เวลากว่า 1-2 ปี จนกว่าจะก่อสร้างโครงการได้ เมืองพัทยา จึงได้เร่งซ่อมแซมเรือขนถ่ายขยะเดิมที่อดีตเคยใช้ในการขนถ่ายขยะจากเกาะล้านมาสู่ฝั่งเมืองพัทยาที่ชำรุดมาเป็นเวลานานจนเกิดปัญหาขยะตกค้างจนแล้วเสร็จ ซึ่งเรือลำนี้จะมีความสามารถใช้การขนถ่ายขยะจากเกาะสู่ฝั่งได้วันละ 25 ตัน จากนั้น นายกเมืองพัทยา จึงได้นำเรื่องเข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้ไขปัญหาเป็นการเฉพาะหน้าช่วงรอเวลาการก่อสร้างเตาเผาขยะถาวร โดยขออนุญาตทำการขนถ่ายขยะที่เกิดขึ้นใหม่บนเกาะล้านปริมาณวันละ 20 ตันเป็นการเฉพาะ โดยจะทำการขนถ่ายขยะลงเรือของเมืองพัทยา นำมาสู่ฝั่งก่อนส่งไปกำจัดที่จังหวัดสระบุรี เพื่อไม่ให้ปริมาณขยะในบ่อพักเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม"
นายมาโนช ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว และกำลังรอเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ที่มีอำนาจตรงที่ได้รับมอบหมายลงนามเพื่อดำเนินการในเดือน ส.ค.2562
"กรณีนี้จะทำให้ปริมาณขยะในบ่อฝังกลบไม่มีปริมาณเพิ่มขึ้น จากนั้นเมืองพัทยา จะทำการฉีดพ่นสารป้องกันพาหะของโรค แมลง และเชื้อโรคเพื่อไม่ให้แพร่กระจายหรือส่งกลิ่นเหม็น ก่อนจะนำผ้าใบขนาดใหญ่มาคลุมทับปิดไว้อย่างถาวร จนกว่าโครงการก่อสร้างเตาเผาขยะจะแล้วเสร็จก็จะทำการขนขยะออกจากกองมาเผาทำลายจนกว่าจะหมด ซึ่งคาดว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดและแก้ไขปัญหาขยะตกค้างได้เป็นอย่างดี" นายมาโนช กล่าว