อุดรธานี-สสจ.เผยปี 62 อุดรธานีมีผู้ป่วยเอดส์ 10,466 คน ชี้อัตราการติดเชื้อมีอยู่ในกลุ่มที่มีอายุน้อยลง ตะลึงอายุเฉลี่ยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของนักเรียนชายอายุ 13 ปี โดยไม่สวมถุงยางอนามัย เร่งรณรงค์ลดอัตราติดเอดส์ในทุกกลุ่มเสี่ยง
นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยถึงสถานการณ์การติดเชื้อ เอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ จังหวัดอุดรธานี จากรายงานบริการสารสนเทศ การให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี (NAP WebReport) ปี 2562 พบว่า จังหวัดอุดรธานี มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ สะสมมีจำนวน 10,466 คน มีชีวิตอยู่และรับยาต้านไวรัสและอยู่ในระบบการรักษาในปัจจุบันมีจำนวน 7,774 คน มีผู้ที่เสียชีวิตจำนวน 1,648 คน และมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งที่ขาดการรักษา จำนวน 1,044 คน
จากข้อมูลดังกล่าวพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ สูงเป็นอันดับที่หนึ่งคือกลุ่มอายุ 25-49 ปี คิดเป็นร้อยละ 39.07 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 11.26 และกลุ่มอายุ 20-24 ปี คิดเป็นร้อยละ 3.75
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มอายุที่ลดลง ข้อมูลในปี 2560-2562 พบว่าช่วงอายุ 10-24 ปี มีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากว่าปีละ 90 คน เป็นเพศชาย มากกว่าเพศหญิง จากการลงสำรวจข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพในสถานศึกษา ในปี 2561 พบว่า อายุเฉลี่ยในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของนักเรียนชาย คืออายุ 13 ปี โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
นพ.ปรเมษฐ์ระบุอีกว่าข้อมูลจากผลการเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวี ปี 2561 ในกลุ่มประชากรทั่วไป ได้แก่ หญิงฝากครรภ์ พบการติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 0.39 และกลุ่มชายไทยทหารเกณฑ์ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 1.42 กลุ่มประชากรที่เข้าถึงยาก ได้แก่ พนักงานบริการทางเพศในสถานบริการติดเชื้อเอชไอวี ไม่พบการติดเชื้อ พนักงานบริการทางเพศหญิงในสถานที่สาธารณะพบการติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 0.25
สำหรับกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย พบว่า ยังคงมีการติดเชื้อเอชไอวีสูงกว่าประชากรกลุ่มอื่นโดยในปี 2561 พบว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 12
จากข้อมูลการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ในจังหวัดอุดรธานี ยังพบว่า สาเหตุและช่องทางการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เป็นประชากรทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงและเข้าถึงยาก ได้แก่ กลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย กลุ่มภรรยาที่ติดเชื้อจากสามี และกลุ่มพนักงานบริการ
ซึ่งในอีก 5 ปี ข้างหน้ากลุ่มประชากรเหล่านี้ยังคงมีแนวโน้มการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่สูงกว่าประชากรกลุ่มอื่น รวมทั้งการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่จากพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย
ขณะที่สถานการณ์การติดเชื้อเอไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ของประเทศไทย พบว่า ในปี 2527 พบผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ รายแรก และเข้าใจว่ามาจากการมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มชายรักชาย ในปี 2530-2531 พบผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ในกลุ่มที่ใช้สารเสพติด โดยเกิดจากการใช้เข็มและหลอดฉีดยาร่วมกันซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และปี 2532 พบผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ในกลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศสูงขึ้น
ตัวเลขล่าสุดในปี 2562 พบว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ทุกสิทธิการรักษา สะสมจำนวน 470,623 คน มีชีวิตอยู่และรับยาในปัจจุบัน 334,045 เสียชีวิตไปแล้วจำนวน 67,539 คน และยังพบว่ามีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งหยุดยาและขาดการรักษา จำนวน 68,789 คน
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว นพ.ปรเมษฐ์บอกว่า ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี โดยงานควบคุมโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้พยายามขับเคลื่อนการดําเนินงานเพื่อเร่งรัดการยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยภายใน ปีพ.ศ. 2563-2573
ทั้งนี้ มี 3เป้าประสงค์ คือ 1.การลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 2.ลดการเสียชีวิตจากเอดส์ 3. ลดการเลือกปฏิบัติจากเอดส์ และ 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1. มุ่งเน้นและเร่งรัดจัดชุดบริการที่มีประสิทธิผลสูงให้ครอบคลุมพื้นที่และประชากรที่อยู่ใน ภาวะเสี่ยงสูง 2.ยกระดับคุณภาพและบูรณาการงานป้องกันที่มีประสิทธิผลให้เข้มข้นและยั่งยืน
3. พัฒนาและเร่งรัดการรักษาดูแลและชวยเหลือทางสังคมให้มีคุณภาพและยั่งยืน 4.ปรับภาพลักษณ์ ความเข้าใจ เสริมสร้างความเข้มแข็งระดับ บุคคล ครอบครัว ชุมชน รวมทั้ง กลไกการคุ้มครองสิทธิ
5. เพิ่มความร่วมรับผิดชอบการลงทุนและประสิทธิภาพการจัดการในทุกภาคส่วนและทุกระดับ 6. ส่งเสริมและพัฒนาการเข้าถึงและการใช้ ประโยชน์ข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์และการวิจัยที่รอบด้านและมีประสิทธิภาพ