เชียงราย/ตรัง - สหกรณ์กองทุนสวนยางฯตรัง..เฮกันลั่น ร่วมเครือข่ายบิสคลับฯ นำหมอนยางพาราโชว์เวทีประชุมจีเท็คเชียงรายเสร็จ ห้างใหญ่ สป.จีน สนใจสรรพคุณหนุนคลายปวดเมื่อยออเดอร์ทันที 1 แสนใบ เล็งฟองน้ำยกทรง-ที่นอนอีก
หลังสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับเครือข่ายบิสคลับ ประเทศไทย นำสินค้าเอสเอ็มอี เครือข่ายบิสคลับ กว่า 300 รายการ จัดแสดงระหว่างการประชุมสัมมนานาชาติเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในกลุ่มจีเอ็มเอส-ไทย หรือจีเท็ค ที่โรงแรมเดอะเฮอทิเทจ จ.เชียงราย เมื่อเร็วๆ นี้
ล่าสุดพบว่า ห้างสรรพสินค้าแครอท มอล ไชน่า สป.จีน ได้สั่งซื้อหมอนยางพาราจากสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด จ.ตรัง ที่อยู่ในเครือข่ายบิสคลับจำนวนมากถึง 100,000 ใบ และยังคงติดตามสินค้าอื่นๆ ในบิสคลับอย่างต่อเนื่องด้วย
นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานบิสคลับ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบิสคลับพยายามพัฒนาสินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยการสร้างเครือข่าย-คัดสรรสินค้าที่ได้มาตรฐานและตรงกับความต้องการของตลาดจีน เข้าร่วมจัดแสดงในลักษณะของการประชุมสัมมนานานาชาติดังกล่าว ผลปรากฏว่าได้ผลด้วยดี โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าแครอท มอล ไชน่า ถือว่ามีบทบาทในการค้าแบบออนไลน์และออฟไลน์ในจีน ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาแล้ว บิสคลับจึงจะต้องเร่งพัฒนาสินค้าของเครือข่ายที่มีกว่า 17,000 รายให้มากขึ้น เพื่อทำตลาดนานาชาติต่อไป
ด้านนายมนัส หมวดเมือง ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด กล่าวว่า เมื่อได้เข้าร่วมเครือข่ายบิสคลับ ก็ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดจีน จากนั้นได้นำไปจัดแสดงภายในการประชุมจีเท็คที่ จ.เชียงราย แล้วมีโอกาสหารือกับภาคเอกชนจีนที่แสดงความสนใจ กระทั่งมีการสั่งซื้อหรือออเดอร์เข้ามามากถึง 100,000 ใบดังกล่าว ซึ่งทางสหกรณ์ก็ได้ขอจัดส่งไปให้เดือนละ 10,000-20,000 ใบ หรือ 30,000-40,000 ใบ และนอกจากหมอนแล้วเอกชนจีนยังสนใจเรื่องฟองน้ำยกทรง ที่นอนยางพารา ฯลฯ โดยทางสหกรณ์ฯ จะจดทะเบียนการค้าร่วมกับเอกชนจีนเพื่อความมั่นใจในธุรกิจร่วมกันในเดือนตุลาคม 2562 นี้ด้วย
นายมนัสกล่าวอีกว่า การเข้าร่วมเครือข่ายบิสคลับนี้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจเอสเอ็มอีไทยอย่างแท้จริง เพราะพิสูจน์แล้วว่าสามารถขายสินค้าได้จริง กรณีที่จีนสั่งซื้อหมอนยางพารานั้น เดิมได้ตั้งราคาขายเอาไว้ที่ใบละประมาณ 300 บาท แต่มีการต่อรองเหลือใบละ 290 บาท รวมมูลค่าซื้อขายประมาณ 29 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรในเครือข่ายของเราดีใจมากและเราก็จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป
“บริเวณ อ.รัษฎา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นั้นเป็นแหล่งแร่ เมื่อชาวบ้านปลูกต้นยางพารา ก็ทำให้มีการดูดซับแร่เข้าไป พอนำมาผลิตเป็นหมอน จึงทำให้หมอนมีสรรพคุณลดอาการปวดเมื่อยด้วย เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากตลาดจีนมาก”