ศูนย์ข่าวศรีราชา- หลายหน่วยงานร่วมตรวจวัดดังชลบุรี หลังเพจ “บิ๊กเกรียน” แฉเปิดธุรกิจหลอกทัวร์ศูนย์เหรียญ ขณะที่เจ้าอาวาสแจง ทุกอย่างทำตามขั้นตอนของกฎหมาย และ พ.ร.บ.สงฆ์ ส่วนรายได้นำไปใช้ประโยชน์ที่ก่อให้เกิดแก่ชุมชน วอนสังคมรับฟังข้อเท็จจริง
จากกรณีที่เพจ “บิ๊กเกรียน” ได้โพสต์รูปภาพพร้อมเรื่องราวแฉกรุ๊ปทัวร์จีนเช่าพื้นที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี สร้างโบสถ์ปลอม เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยเฉพาะภายในยังมีการเปิดขายพระ เครื่องรางของขลังในราคาที่แพงกว่าปกติในหลักหลายหมื่นบาท และยังจัดคนมาจำหน่ายตั้งแผงขายธูปเทียน โดยพบว่าในแต่ละวันจะมีรถทัวร์จอดอยู่หลายคัน ซึ่งบริเวณด้านหน้าอาคารที่อยู่ตรงข้ามพระอุโบสถ์ของวัดยังเป็นอาคารคล้ายพระอุโบสถ์
ส่วนด้านในมีศาลาตั้งพระพรหม เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวจีนกราบไหว้ จนทำให้มีเงินสะพัดเข้ากระเป๋านายทุนในประเทศจีนจำนวนมหาศาล โดยพฤติกรรมลักษณะนี้เข้าข่ายแก๊งขบวนการทัวร์ศูนย์เหรียญ และยังทำให้ประเทศไทยได้รับความเสียหายในเรื่องภาพลักษณ์ และรายได้ที่จะเข้าประเทศนั้น
ล่าสุดวันนี้ (29 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวจากหลายสำนักได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบวัดที่เป็นกำลังเป็นกระแส พร้อมด้วยตัวแทนจากสำนักพระพุทธศาสนา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชลบุรี ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชลบุรี ตำรวจท่องเที่ยวพัทยา ตำรวจ ตม.พัทยา ฝ่ายปกครองอำเภอบางละมุง และ สภ.ห้วยใหญ่ ซึ่งก็พบว่าคือวัดเขาไม้แก้ว ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยมีร่วมตรวจสอบ โดยมี พระครูสุนทรรัตาภิรม เจ้าอาวาส พร้อมด้วยไวยาวัจกร คณะกรรมการวัด และตัวแทนบริษัทนำเที่ยวที่มาขอเช่าพื้นที่ภายในวัดฯ ให้การต้อนรับและอธิบายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น
โดยพระครูสุนทรรัตนาภิรม แจ้งว่าในเบื้องต้นทางวัดฯ ไม่คิดว่ากรณีดังกล่าวจะกลายเป็นปัญหา เพราะทุกอย่างได้ดำเนินการตามขั้นตอน เนื่องจากวัดฯค่อนข้างอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงทำให้มีรายได้ไม่พอใช้จ่าย และการแบ่งพื้นที่บางส่วนให้บริษัทเอกชนเข้ามาเช่าได้ทำการขออนุญาตจากสำนักงานพระพุทธศาสนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
"ก็ไม่ได้ติดขัดอะไรเพราะดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง โดยบริษัทแห่งนี้มาขอเช่าพื้นที่บริเวณพื้นที่ว่างประมาณ 1 ไร่ ด้านลานจอดรถด้านนอกเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมาในพื้นที่รวมประมาณ 40 ไร่ เพื่อรับนักท่องเที่ยวจีนซึ่งพากันเข้ามากราบไหว้พระและเยี่ยมชมศาสนาสถานประมาณ 20-30 คันรถ โดยจะเสียค่าเช่าเดือนละ 3 หมื่นบาท ซึ่งทางวัดก็จัดทำบัญชีโดยละเอียดเพื่อแจ้งให้ทางสำนักพุทธฯทราบเป็นประจำทุกเดือน ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการสร้างโบสถ์ขึ้นอีก 1 หลังเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวนั้นยืนยันว่าเป็นเรื่องของความคลาดเคลื่อน เพราะโบสถ์แห่งนี้จริงๆคือศาลาการเปรียญที่พระใช้ทำพิธีทางสงฆ์ในวันสำคัญทางพุทธศาสนาหรือวันพระที่ชาวบ้านจะมาทำบุญ และก็สร้างตั้งแต่ปี 2553 หรือกว่า 10 ปี และราคาก่อสร้างก็นับสิบล้านบาทจะมาสร้างเพื่อรับนักท่องเที่ยวจีนคงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนัก"
พระครูสุนทรรัตนาภิรม ยังแจ้งอีกว่าในว่าพระพรหม หรือองค์พระปฐม ได้สร้างมาแต่เดิมแล้วจะมีเพียงทางวัดฯจัดให้จัดชาวบ้านโดยจ้างให้มาจำหน่ายดอกไม้ ธูปเทียนแก่นักท่องเที่ยวเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นเป็นเรื่องของบริษัท ที่ก็ได้กำชับว่าให้ทำอย่างให้ถูกต้องและไม่รบกวนชาวบ้าน ที่สำคัญการเข้ามาของบริษัทยังทำให้วัดมีรายได้เพิ่มขึ้นจนสามารถนำไปทำนุงบำรุงศาสนา เช่นสร้างกุฏิ อาคาร ค่าใช้จ่ายในวัด รวมทั้งการให้ทุนการศึกษาเด็กในโรงเรียนของวัดได้ถึง 3 แห่ง
"การตั้งมูลนิธิสังฆาประชานุเคราะห์ ก็เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว ส่วนพระเครื่องที่บอกว่าจำหน่ายในราคาแพงนั้นก็ได้กำชับให้ดำเนินการอย่างเป็นธรรม และทางวัดฯไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวแต่พระทุกองค์ทางวัดก็ทำพิธีพุทธาภิเษกให้เพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนจะแพงหรือถูกคงแล้วแต่ความพอใจของผู้ซื้อ เพราะไม่ได้มีการบัง คับขาย อีกอย่างพระมีทั้งทำจากเงิน ทองแดง และทองคำ ราคาก็แตกต่างกัน ดังนั้นการลงข่าวเช่นนี้ทำให้วัดเสียหายและไม่ถูกต้อง จึงอยากให้มารับฟังข้อเท็จจริงด้วย"พระครูสุนทรรัตนาภิรม กล่าว
ด้านนายเดชา ก่อเกิด ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดชลบุรี เผยว่าตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ วัดก็มีสิทธิ์ดำเนินการได้ แต่ต้องขออนุญาตอย่างถูกต้องว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อสิ่งใด จากนั้นก็ทำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะสงฆ์ รายงานเจ้าคณะอำเภอ จังหวัด และนำเข้าสำนักพุทธฯ เพื่อเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดในการขออนุญาต ซึ่งทางวัดก็ทำอย่างถูกต้อง และก็มีการส่งรายงานบัญชีแก่สำนักพุทธฯ เป็นประจำทุกเดือน
" ตอนนี้เหลือเพียงการจัดทำผังพื้นที่ที่นำไปให้เช่าประโยชน์เพื่อประกอบในการขออนุญาตเท่านั้น ซึ่งจากการตรวจสอบก็ไม่พบความผิดอะไร แต่แทนที่จะเสียหายน่าจะเป็นเรื่องดีที่พานักท่องเที่ยวเข้าชมเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวต่างชาติ เพียงแต่ทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบที่เหมาะสม ไม่เอารัดเอาเปรียบ หรือหลอกขายสินค้าในราคาแพง ซึ่งกรณีนี้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแล โดยถ้าพบความผิดหรือทำให้วัดเสีย หายก็ให้ยกเลิกไปเท่านั้น แต่นี่เป็นเพียงการพานักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม ไหว้พระ ทำบุญ และก็ไม่ได้สร้างความเสียหายอะไร"นายเดชา กล่าว
ขณะที่ตัวแทน บริษัทเอกชนผู้เช่าพื้นที่ดำเนินการเปิดเผยว่า กิจการดังกล่าวไม่ได้หลอกลวงนักท่องเที่ยวแต่อย่างใดแต่เป็นการนำนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมศาสนสถาน และกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นศิริมงคลเท่านั้น และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ซึ่งชาวจีนก็ชื่นชอบในพระพุทธศาสนา ส่วนจะทำบุญหรือซื้อพระเครื่องหรือไม่ไม่มีการบังคับ และพระทุกองค์มีราคาติดแจ้งไว้อย่างถูกต้อง
"กิจการนี้เพิ่งเปิดได้ไม่นานและมีพนักงานประมาณ 10 กว่าคนเท่านั้น อย่างไรก็ตามหลังตกเป็นข่าวและมีเจ้าหน้าที่ก็เข้ามาตรวจสอบ รวมทั้งคุมตัวพนักงานบางส่วนไปสอบสวนเนื่องจากยังไม่มีใบอนุญาตทำงานในราชอาณาจักรอย่างถูกต้อง ซึ่งทางบริษัทก็ไม่ขัดข้อง แต่ที่ไม่ได้จัดทำให้ก็เพราะค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตสูงกว่าแสนบาทต่อราย " ตัวแทนบริษัทเอกชน กล่าว