ปราจีนบุรี - กลุ่มผู้ป่วยโรคลมชัก พาร์กินสัน และมะเร็งระยะสุดท้าย แห่รับน้ำมันกัญชาสกัดในคลินิกกัญชา รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี หลังเปิดให้บริการเป็นครั้งที่ 3 ขณะที่ ดร.สุภาภรณ์ ชี้ไทยเป็นชาติแรกของอาเซียนที่เปิดคลินิกกัญชา
วันนี้ (27 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศการเข้าใช้บริการในคลินิกกัญชา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเปิดให้บริการเป็นครั้งที่ 3 พบว่า ยังคงมีผู้ป่วยจากหลายจังหวัดทยอยเข้ามาเข้ารับการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง และในการเปิดให้บริการครั้งนี้ ยังมีความพิเศษตรงที่ คลินิกแห่งนี้ได้เริ่มจ่ายน้ำมันกัญชาสกัดจากของกลางที่ผ่านมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้แก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคลมชัก และโรคพาร์กินสันที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแผนปัจจุบัน รวมทั้งผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
ทั้งนี้ คลินิกกัญชา ดำเนินการภายใต้โครงการ “กัญชา อภัยภูเบศร โมเดล” ซึ่งเป็นต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ เพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์และเหมาะสมต่อคนไทยมากที่สุด โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้รับอนุญาตให้ปลูก ผลิต และจ่ายยากัญชา เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาโรคกรณีผู้ป่วยรักษาแผนปัจจุบันไม่ได้ผล โดยคลินิกจะเปิดให้บริการทุกวันจันทร์ที่ 4 ของเดือน ตั้งแต่เวลา 13.00-16.00 น.
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ประธานยุทธศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดเผยว่า หลังจากที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดคลินิกกัญชาเมื่อ 2 ครั้งที่ผ่านมา นอกจากจะมีผู้ป่วยในไทยติดต่อสอบถามและเข้ามารับการรักษาเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีกลุ่มผู้ป่วยจาก ต่างประเทศติดต่อสอบถามเพื่อขอเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ทั้งนี้ เพราะโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดให้บริการคลินิกกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นแห่งแรกของอาเซียน และเมื่อการประชุมภูมิปัญญาอาเซียนที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมยังได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกัญชากันอย่างกว้างขวาง
โดย ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า กัญชงและกัญชาคือพืชชนิดเดียวกัน แต่คนละสายพันธุ์ ซึ่งในพืชชนิดนี้มีการผสมข้ามสายพันธุ์กันมาก ทำให้กัญชงและกัญชา แยกออกจากกันยาก และในประเทศสหรัฐอเมริกา ยังมีการอนุญาตให้ปลูกกัญชง เนื่องจากมีสารเมาปริมาณต่ำและไม่ก่อให้เกิดการนำไปใช้ในทางที่ผิด
“ในส่วนของมูลค่าตลาดของกัญชานั้น ในแต่ละฐานข้อมูลมีมูลค่าแตกต่างกัน ไป ทั้งนี้ อาจเนื่องด้วยคำจำกัดความของกัญชา บางฐานข้อมูลการตลาดก็รวมกัญชง หรือ Hemp เข้าไปด้วย และยังมีประเด็นช่องทางการจำหน่ายที่ส่งผลให้มีการรายงานตัวเลขแตกต่างกัน แต่ที่แน่นอนตลาดโดยรวมมีมูลค่าสูงขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่า กัญชาสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคได้ โดยเฉพาะโรคที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน”
ภญ.ดร.ผกากรอง กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อบ่งใช้ของกัญชาที่นำมาใช้กันมากคือ บรรเทาปวด แต่โดยส่วนตัวมองว่าในประเทศไทย น่าจะคำนึงถึงความคุ้มค่าในการนำมาใช้ด้วย เนื่องจากอาการปวด หากมียาที่ราคาถูก ใช้ง่ายกว่าและปลอดภัยกว่าควรเลือกใช้ก่อนกัญชา และในส่วนที่นำผลิตภัณฑ์กัญชาไปใช้เพื่อการรักษาโรคทางผิวหนังก็เริ่มมีแนวโน้มที่จะเติบโตอีกมาก
สำหรับปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของตลาดกัญชา คือ ผลข้างเคียงและความสามารถของกัญชาที่จะใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ รวมถึงสังคมผู้สูงอายุและการวิจัย ซึ่งประเทศไทยต้องให้ความสำคัญเพราะในเบื้องต้น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พบว่า ยาน้ำมันกัญชา 1 ล้านขวด ใช้กัญชาเพียง 40-50 ไร่เท่านั้น เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้เพียงน้อยก็ได้ผลแล้ว