อุดรธานี - ประธานหอการค้าอุดรธานีเผยนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีคืบเกินเป้า โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภคภายใน คาดพร้อมเปิดปลายปี 62 นี้ ชูศักยภาพเด่นที่ตั้งเหมาะลงทุนส่งออกจีนตอนใต้และอีสเทิร์นซีบอร์ด เล็งประสาน ร.ฟ.ท.เชื่อมทางรถไฟเข้าโครงการ
รายงานข่าวแจ้งว่า ณ พื้นที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ต.โนนสูง อ.เมืองอุดรธานี นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเพื่อติดตามการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี และติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งแรกของภาคอีสาน ต่อการเป็นศูนย์กลางส่งเสริมการลงทุนและศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
มีนายกองเอก สุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานกรรมการบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด, นางอรพิน พิพัฒน์วิไลกุล รองประธานกรรมการบริษัทฯ และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชม พร้อมบรรยายสรุปข้อมูลความก้าวหน้าโครงการ ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคต่างๆ
นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าอุดรธานี กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้ประสานกระทรวงคมนาคม จึงนำคณะกรรมการลงพื้นที่ติดตามว่า จ.อุดรธานีมีความพร้อมพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือบก การขนส่งโลจิสติกส์ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีคืบหน้าเกินคาดหมาย ทั้งการพัฒนาสาธารณูปโภคภายในระบบไฟฟ้า ประปา ภายในโครงการ
พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีน่าจะเปิดได้ภายในปลายปี 2562 นี้ แต่มีบางเรื่อต้องคุยกับการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อขอเชื่อมทางรถไฟ โดยเฉพาะการขนส่งโลจิสติกส์ เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่เริ่มเล็งเห็นศักยภาพด้านการลงทุนของ จ.อุดรธานี เป็นจุดพัฒนารองรับการลงทุนได้ โดย จ.อุดรธานีได้เปรียบเรื่องระบบการคมนาคม ทั้งทางบก ทางอากาศ สามารถเพิ่มขีดการแข่งขันสู่อินโดจีนได้
ด้านนางอรพิน พิพัฒน์วิไลกุล รองประธานกรรมการบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด กล่าวว่า ความคืบหน้าด้านการปรับพื้นที่ ทำระบบระบายน้ำ คืบไปแล้วประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ กำลังพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเพิ่มเติม ขณะนี้ได้จัดสรรที่ดินเรียบร้อยพร้อมขายเฟส 1 ส่วนศูนย์กระจายสินค้าจะทำควบคู่กันไป ซึ่งการพัฒนาพื้นที่ภายในโครงการเราพัฒนาไปค่อนข้างพร้อมแล้ว เหลือเพียงประสานกับหน่วยงานรัฐเพื่อทำทางรถไฟเชื่อมจากสถานีรถไฟหนองตะไก้เข้าพื้นที่โครงการระยะทางประมาณ 1.8 กิโลเมตร
ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีหากแล้วเสร็จสมบูรณ์จะเป็นศูนย์กระจายสินค้าลงทุนอุตสาหกรรมที่โดดเด่น มีโครงการลงทุนจากหลายจังหวัดเข้ามาลงทุน มุ่งหวังลงทุนกระจายสินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออกตลาดโลก หรือเป็นศูนย์การลงทุนเพื่อมุ่งกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ประเทศจีนตอนใต้ได้ด้วย เบื้องต้นมีอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่วางแผนเข้ามาลงทุน ทั้งโรงงานน้ำตาล โรงงานแปรรูปยางพาราแผ่น ข้าว ส่วนอุตสาหกรรมอื่นจะมีการพิจารณาต่อไป
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีมีจุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งอยู่ในโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงทั้งในและนอกประเทศ มีเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศเพื่อนบ้านกับจีนตอนใต้โดยใช้เส้นทาง R12, R9 และ R8 อยู่ในเส้นทางรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีนตอนใต้ไปยังท่าเรือแหลมฉบังและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีศูนย์กระจายสินค้าทางรางและศูนย์โลจิสติกส์ในพื้นที่กว่า 400 ไร่ ติดกับเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย
ปัจจุบันโครงการได้ก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีไฟฟ้าย่อย 115 kv บนพื้นที่ 12 ไร่ ดำเนินการเสร็จสิ้น, บ่อน้ำ 81 ไร่ ความจุ 1.6 ล้าน ลบ.ม. จำนวน 3 บ่อ เสร็จ 1 บ่อ และอีก 2 บ่อใกล้แล้วเสร็จ, ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก เลียบทางรถไฟ 1 กิโลเมตร พื้นที่จัดตั้ง ICD (600 ไร่) และ Free Zone (300 ไร่) พื้นที่โครงการ 2,170 ไร่ แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 เฟส
เฟส 1 พื้นที่ 1,325 ไร่ เขตอุตสาหกรรมทั่วไปและศูนย์กระจายสินค้า เฟส 2 พื้นที่ 845 ไร่ เขต FREE ZONE และท่าเรือบก DRY PORT ปัจจุบันงานปรับดิน ถมดินบริเวณเฟส 1 ดำเนินการเสร็จแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ โดยโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีได้เสนอขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การศึกษาความเหมาะสมโครงการท่าเรือบก (Dry Port) จ.อุดรธานี, พัฒนาระบบการเดินรถไฟจากสถานีหนองตะไก้เข้ามายังพื้นที่โครงการ 1.8 กิโลเมตร,
พัฒนาหรือขยายโครงข่ายถนนรอบๆ พื้นที่โครงการ รวมทั้งการพัฒนาหรือขยายโครงข่ายถนนเชื่อมโยงเข้าพื้นที่โครงการ (Local Road 15 กิโลเมตร) เป็นต้น โดยภาพรวมโครงการมีความพร้อมให้นักลงทุนเข้าดำเนินงานภายในปลายปีนี้