xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงน้ำเก็บกักอีสานกลางไม่พอใช้ถึงแล้งปีหน้า เร่งเติมน้ำแนะใช้อย่างรู้คุณค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ระดับน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำเขตอีสานตอนกลาง มีระดับกักเก็บไม่ถึง 30%
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - แล้งหนัก! น้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำอีสานตอนกลางต่ำกว่า 30% สนง.ชลประทานที่ 6 ห่วงน้ำไม่พอใช้ถึงแล้งปี 62/63 วางแผนแก้ปัญหาดึงส่วนราชการเร่งเติมน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียง ประปาส่วนภูมิภาคพร้อมเจาะบาดาลจุดไม่มีน้ำต้นทุน
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6
วันนี้ (20 ส.ค. 62) ที่ห้องประชุมลำน้ำชี สำนักงานชลประทานที่ 6 อ.เมือง จ.ขอนแก่น ประชุมร่วมหน่วยงาน การประปาส่วนภูมิภาค และตัวแทนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ในเขตภาคอีสานตอนกลางกว่า 88 แห่ง เพื่อวางมาตรการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาสภาวะน้ำน้อย ที่คาดจะมีน้ำไม่เพียงพอจนถึงฤดูแล้งหน้า

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า จากสถิติฝนที่ตกช่วงเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติถึง 30-40% ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลางและแหล่งน้ำธรรมชาติไม่มากนัก ส่งผลให้น้ำในอ่างเก็บน้ำมีปริมาณกักเก็บต่ำกว่า 30% ซึ่งน้ำอาจไม่เพียงพอสำหรับใช้ถึงฤดูแล้งปี 62/63

สำนักงานชลประทานที่ 6 จึงเชิญการประปาส่วนภูมิภาคและผู้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมจากชลประทานตามมาตรา 5 และมาตรา 8 ในเขตความรับผิดชอบทั้ง 5 จังหวัดอีสานตอนกลางกว่า 88 แห่ง มาร่วมหารือรับทราบสถานการณ์น้ำและวางมาตรการแก้ปัญหาร่วมกัน

จากการรายงานพบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 69 แห่งในภาพรวมมีน้ำดิบเพียงพอที่จะผลิตน้ำประปาได้ตลอดฤดูแล้งปี 62/63 แต่มีเพียง 7 อ่างที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง อยู่ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ 1 แห่ง จ.มหาสารคาม 2 แห่ง จ.กาฬสินธุ์ 3 แห่ง และ จ.ร้อยเอ็ด 1 แห่ง ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้วางมาตรการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหา โดยการเติมน้ำเข้าอ่างจากแหล่งน้ำใกล้เคียง การบูรณาการกับส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงการประปาส่วนภูมิภาคก็มีแผนเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนด้วย

สำหรับภาพรวมสถานการณ์น้ำอีสานกลางปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่งมีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 990 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำใช้การได้ประมาณ 260 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 7 ของความจุรวม ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่งมีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 87 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำใช้การได้ประมาณ 48 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 12 ของความจุรวม และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 1,006 แห่งปริมาณน้ำเก็บกัก 85 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุรวม



ส่วนแผนการเพาะปลูกประมาณ 2.3 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้ว 2.2 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 96 ของแผน จากการคาดการณ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาในเดือนกันยายนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติประมาณ 220-300 มม. ซึ่งหากฝนตกตามคาดการณ์จะส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น น้ำที่มีอยู่ในอ่างขณะนี้จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพื่อสำรองไว้สำหรับการอุปโภคบริโภคเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น