xs
xsm
sm
md
lg

การบินลาวเล็งส่งนักบินฝึกหัดอบรมคอร์สการบินคุณภาพสูงใน ม.ขอนแก่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - รัฐวิสาหกิจการบินลาวข้ามโขงดูงานและตรวจสอบหลักสูตรการฝึกอบรมโรงเรียนการบินอาเซียน ไฟลท์ฯ ภายใน ม.ขอนแก่น พอใจมาตรฐานการเรียนการสอน เล็งส่งนักบินฝึกหัดของลาวมาฝึกบิน แทนส่งอบรมที่ประเทศจีนซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 15 ส.ค. 62 ที่ผ่านมา ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มข. พร้อมด้วย ผศ.ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายการศึกษา และนายกฤต รัตนราช ผอ.โรงเรียนการบินอาเซียน ไฟลท์ อคาเดมี ได้ให้การต้อนรับ ท้าวสมฤทธิ์ สีหวงษ์ หัวหน้าแผนกความปลอดภัย-คุณภาพและนิรภัยการบิน รัฐวิสาหกิจการบินลาว, ตลอดจนนักบิน เข้าเยี่ยมชมตรวจสอบหลักสูตรการฝึกอบรมของโรงเรียนการบินอาเซียน ไฟลท์ อคาเดมี

รศ.ดร.ไมตรี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มข.เปิดเผยว่า คณะศึกษาศาสตร์ มข. ดำเนินการโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านการพัฒนาการคิดขั้นสูง มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 เพื่อเผยแพร่นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด ( Open Approach) ซึ่งได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน มุ่งเน้นผลิตครูที่สอนเด็กให้มีความสุขสนุกกับชั้นเรียน แต่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนคิดเป็น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าสอนให้เด็กคิดตามแบบท่องจำ

ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างคณะศึกษาศาสตร์ ม.ขอนแก่น ที่มีจุดเด่นด้านการสอนในชั้นเรียน และโรงเรียนการบิน Asian Flight Academy ที่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการบิน จึงเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง ในการตอบโจทย์ความต้องการนักบินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต เป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ที่สนใจในอาชีพนักบิน มีนักบินวิชาชีพมาถ่ายทอดประสบการณ์ในหลายแง่มุม เชื่อว่าจะนำไปสู่แรงบันดาลใจในเส้นทางวิชาชีพนี้ต่อไปในอนาคต

อุตสาหกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมภาคบริการที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา จากสถิติที่ผ่านมามีการคาดการณ์มูลค่าที่เกิดจากธุรกิจการบินทั่วโลก เติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี (จากปี ค.ศ. 2012-2032) และจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า คาดการณ์ว่าภายในปี 2573 จำนวนเที่ยวบินได้รับการประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านเที่ยวบิน เป็น 60 ล้านเที่ยวบินภายในอีกประมาณ 20 ปี

การเติบโตแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมการบินดังกล่าวจึงเป็นมูลเหตุจูงใจให้คณะศึกษาศาสตร์ ม.ขอนแก่นทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการบินพาณิชย์กับโรงเรียนการบิน Asian Flight Academy เพื่อเผยแพร่ประสบการณ์จากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการบินสู่นักบินรุ่นใหม่

รวมไปถึงร่วมกันพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมการบินไทย-ลาว ให้ได้มาตรฐานสูงยิ่งขึ้น เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

ด้าน ผศ.ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดี มข.ฝ่ายการศึกษา กล่าวถึง “นักบิน” ว่า เป็นอีกหนึ่งในวิชาชีพที่คนไม่น้อยใฝ่ฝัน มีความมั่นคงและยังมีความต้องการในตลาดการบินอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอาเซียนที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง ทั้งในส่วนของการขนส่ง การส่งออก การท่องเที่ยว และการผลิตสินค้าต่างๆ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ในขณะเดียวกันองค์กรการบินระหว่างประเทศได้เพิ่มระดับการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยของประเทศไทยขึ้น

กอปรกับรัฐบาลไทยได้ผ่าน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 (EEC) เพื่อกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น และหนึ่งในหัวใจของการส่งเสริมกิจกรรมในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษนี้คือยุทธศาสตร์ที่ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินประจำภูมิภาค อันหมายถึงอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยจะยิ่งทวีความต้องการบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

จ.ขอนแก่นเอง ในอนาคตจะมีสนามบินแห่งที่ 2 เกิดขึ้น ที่ ต.บัวใหญ่ อ.น้ำพอง โดยจะมีการตัดถนน ระยะ 18 กม.เพื่อวิ่งจากตัวเมืองเข้าสู่สนามบินน้ำพองโดยตรง สนามบินเก่าแห่งนี้สร้างขึ้นโดยกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเวียดนาม ปัจจุบันสนามบินน้ำพองเป็นเขตทหารของฝูงบิน 237 กองทัพอากาศไทย

ท้าวสมฤทธิ์ สีหวงษ์ หน.แผนกความปลอดภัย คุณภาพและนิรภัยการบิน รัฐวิสาหกิจการบินลาว ระบุว่า การมาศึกษาดูงานและตรวจสอบหลักสูตรการฝึกอบรม ตลอดจนการสอนของโรงเรียนการบิน Asian Flight Academy ครั้งนี้รู้สึกดีใจที่ได้เห็นศูนย์ฝึกของทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความสมบูรณ์ และมีความพร้อมในการฝึกอบรมการบินเป็นอย่างมาก ทางการบินแห่งชาติลาวต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ให้ความไว้วางใจสายการบินแห่งชาติลาวได้มาเยี่ยมชม มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความก้าวหน้า มีบุคลากรที่มีคุณภาพ เหมาะต่อการฝึกอบรมการบิน

ท้าวสมฤทธิ์บอกอีกว่า หลังจากศึกษาดูงานและตรวจสอบในทุกด้านที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนการบินแล้ว มีความมั่นใจในศูนย์ฝึกอบรมการบินของ ม.ขอนแก่นเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาทางสายการบินลาวได้ส่งพนักงานการบินไปฝึกที่ประเทศจีน ซึ่งค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมาก ดังนั้น ในอนาคตจึงมีความเป็นไปได้มากที่ทางสายการบินแห่งชาติลาวต้องส่งนักเรียนการบินหรือนักบินฝึกหัดมาเรียนที่ไทย ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมากขึ้น

“ภาษาไทยกับลาวสามารถเข้าใจกันได้ มีแต่ภาษาเวียดนาม ภาษาอังกฤษที่เราไม่ค่อยเข้าใจ ก็ขอขอบใจที่มีการต้อนรับจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างอบอุ่น หวังว่าในอนาคตลาวกับไทยจะได้ร่วมมือกันในอีกหลายๆ ด้านให้แน่นแฟ้นกว่าเดิม” ท้าวสัมฤทธิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น