xs
xsm
sm
md
lg

กกล.บูรพาร่วมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จว.ตะวันออก ส่งมอบคูกันช้างและรั้วกันช้างแบบใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สระแก้ว - กองกำลังบูรพา ร่วมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ส่งมอบคูกันช้างและรั้วกันช้างบนคูกันช้างรูปแบบใหม่ในพื้นที่ป่ารอยต่อภาคตะวันออก แก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่

วันนี้ (10 ส.ค.) พล.อ.สุรัตน์ วรรักษ์ เลขานุการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก พร้อมด้วย พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผบ.กองกำลังบูรพา นายอยู่ เสนาธรรม ผอ.สำนักงานพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ศรีราชา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันส่งมอบโครงการปรับปรุงคูกันช้างและรั้วกันช้างบนคูกันช้างรูปแบบใหม่ ในพื้นที่ อ.สนามชัยเขต และ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นเขตติดต่อพื้นที่ จ.สระแก้ว ระยะทาง 25 กม. ให้แก่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด

หลังเกิดปัญหาช้างป่าออกจากพื้นที่ป่ามาหาอาหารในพื้นที่ทำกินของประชาชนและกลับเข้าเขตพื้นที่ป่า ซึ่งมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ได้อนุมัติงบประมาณให้แก่กองกำลังบูรพา ดำเนินการสร้างรั้วกันช้างบนคูกันช้างแบบใหม่ โดยใช้รูปแบบรายละเอียดที่สำนักงานพัฒนาภาค 1 ออกแบบ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่คูกันช้างให้สามารถป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ได้อย่างสมบูรณ์

พร้อมทั้งมอบถังน้ำขนาด 2,000 ลิตร ให้แก่ชุมชนและโรงเรียนในพื้นที่รอบป่ารอยต่อ 5 จังหวัด จำนวน 5 พื้นที่ ก่อนจะลงพื้นที่ตรวจคูกันช้างและรั้วกันช้างรูปแบบใหม่ พร้อมร่วมกันปลูกหญ้าแฝกกับเจ้าหน้าที่ทหาร ประชาชน และนักเรียนเกือบ 100 คน ที่บริเวณคูกันช้าง

พ.ต.พงศ์กรณ์ อบมา หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน กองกำลังบูรพา ระบุว่าโครงการปรับปรุงคูกันช้างและรั้วกันช้างบนคูกันช้างในพื้นที่ป่าดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังพบพฤติกรรมของช้างป่าที่ออกจากพื้นที่ป่ามาหาอาหารตามเส้นทางที่เคยเข้าออก ซึ่งช้างป่าได้ทำลายรั้วด้วยการยืนบนคูกันช้างจนทำให้รั้วหักและชำรุด จึงวางแนวทางการแก้ไขด้วยการปรับปรุงรั้วระยะ 30 เมตร โดยใช้เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง 20 ซม. ยาว 20 ซม. สูง 4.50 เมตร มีตอม่อและเทปูนซีเมนต์ถึงระดับดินเดิมเพื่อกันสนิม

ส่วนปัญหารั้วเกิดการชำรุดจากดินคันคูทรุดตัว ซึ่งสาเหตุเกิดจากฝนตกในปริมาณมาก และพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ต่ำทำให้น้ำไหลมารวมกัน จึงทำให้คันคูเกิดการชุ่มน้ำ ดินจึงเกิดการทรุดตัว จึงแก้ไขด้วยการปรับแนวคันคู โดยนำดินนอกพื้นที่มาเติมคันคูด้วยการบดอัดครั้งละ 50 ซม. จนครบ 3.5 เมตร 
 
พร้อมทั้งวางท่อเพื่อให้สามารถระบายน้ำออกจากคูกันช้างได้ ก่อนจะติดตั้งรั้วกันช้างตามรูปแบบ ซึ่งสามารถป้องกันช้างออกจากพื้นที่ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ พล.อ.สุรัตน์ วรรักษ์ เลขานุการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก เปิดเผยว่า หากสามารถดำเนินการปรับปรุงคูกันช้างและรั้วกันช้างเพิ่มเติมต่อเนื่องได้รอบป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ครอบคลุมทั้งหมด 1.3 ล้านไร่ ก็จะสามารถกันไม่ให้ช้างออกนอกพื้นที่ได้ ซึ่งขณะนี้สามารถขุดคูกันช้างไปแล้ว 591.6 กม. ยังขาดอีกประมาณ 100 กม.จะครอบคลุมรอบพื้นที่ทั้งหมด







กำลังโหลดความคิดเห็น