xs
xsm
sm
md
lg

โคตรเน่า!! รองนายกเมืองพัทยาสั่งถอนใบอนุญาตร้านอาหารปล่อยน้ำเสียลงคลองพัทยาใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวศรีราชา - โคตรเน่า!! รองนายกเมืองพัทยา สั่งตรวจสอบอาคาร ร้านอาหารริมคลองพัทยาใต้ ลอบปล่อยน้ำเสีย พร้อมสั่งรื้อส่วนรุกล้ำคลองตามแผนร่วมกรมโยธาธิการ ก่อนบังคับทำบ่อดักไขมันประกอบการพิจารณาให้ใบอนุญาต หลังสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม

จากกรณีที่มีประชาชนในพื้นที่เมืองพัทยา ร้องเรียนว่า สภาพน้ำในคลองพัทยาใต้ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีสภาพขุ่นดำ สกปรก และยังมีเศษตะกอนไขมันลอยอยู่บนผิวน้ำเป็นจำนวนมากหลังเกิดพายุฝนตกหนักในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา นอกจากนั้น ยังพบว่าน้ำในคลองมีระดับสูงกว่า 1-2 เมตร และยังส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว ขณะที่เมืองพัทยา ซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่ก็ไม่สามารถระบายน้ำในคลองลงสู่ทะเลได้ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมากนั้น

วันนี้ (7 ส.ค.) นายพัฒนา บุญสวัสดิ์ รองนายกเมืองพัทยา ได้นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและตัวแทนผู้รับเหมาดูแลระบบน้ำเสียและความสะอาด ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพน้ำในคลองพัทยาใต้ โดยพบว่า มีปัญหาจริง และน้ำยังมีลักษณะขุ่นดำ และมีตะกอนไขมันลอยเป็นจำนวนมากจนไม่สามารถปล่อยน้ำลงสู่ทะเลได้ เบื้องต้น จึงมอบหมายให้บริษัทผู้รับเหมานำตาข่ายดักตะกอนมาติดตั้งทั้งบริเวณต้นทางและปลายน้ำ เพื่อดักตะกอนและขยะมูลฝอยที่ลอยมากับสายน้ำ

นอกจากนั้น ยังได้มอบหมายให้สำนักการช่างสุขาภิบาล ทำการสูบน้ำในคลองไปยังสถานี PS1 เพื่อส่งไปที่โรงบำบัดในซอยหนองใหญ่ เนื่องจากสภาพน้ำไม่สามารถปล่อยลงสู่ทะเลได้ อีกทั้งยังต้องเร่งลดปริมาณน้ำเนื่องจากในหน้ามรสุมหากน้ำมีจำนวนมากเกินไป ก็จะไหลบ่าเข้าพื้นที่

“สิ่งสำคัญอีกประการคือ การตรวจพบอาคาพาณิชย์กว่า 10 คูหาที่ตั้งอยู่ริมคลองซึ่งส่วนใหญ่ประกอบกิจการร้านอาหาร ลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองสาธารณะโดยตรงโดยไม่มีบ่อดักไขมัน ซึ่งถือเป็นการเติมความสกปรกและสร้างความเสียหายต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งเข้า ตรวจสอบ รวมทั้งจัดทำผังแนวเขตกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งหากพบว่ายังมีส่วนที่รุกล้ำแนวคลองอีกก็จะให้ทำการรื้อถอนเพื่อเข้าสู่แผนการพัฒนาคลองร่วมกับกรมโยธาธิกาในทันที”

นายพัฒนา ยังบอกอีกว่า นอกจากนี้ยังจะมีการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข ในการสั่งให้ผู้ประกอบการจัดทำระบบเพื่อป้องกันน้ำเสียและไขมันลงสู่แหล่งน้ำอย่างจริงจัง โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการร้านอาหาร และหากพบว่าผู้ประกอบการยังคงไม่ดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง ก็จะระงับการออกใบอนุญาตเพื่อลดปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม







กำลังโหลดความคิดเห็น