ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สังเวยวิกฤตแล้ง! นาข้าวโคราชแห้งตายคาดสูญยับทั้งจังหวัดกว่า 1.7 ล้านไร่ เผยพายุวิภาไม่ช่วยอะไร เร่งสำรวจประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินช่วยเยียวยาชาวนาทุกข์ระทม ชลประทานระบุเกษตรกรเริ่มเปิดศึกชิงน้ำ ประปาขาดน้ำ แม่น้ำชีสุดแห้งขอด
วันนี้ (5 ส.ค.) นายกังสดาล สวัสดิ์ชัย เกษตรจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งของ จ.นครราชสีมา และการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรนาข้าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลกระทบพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวที่ จ.นครราชสีมา ที่มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 3.5 ล้านไร่ ขณะที่เกษตรกรปลูกข้าวไปแล้ว 3.2 ล้านไร่ ได้รับผลบกระทบภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง หากว่าฝนไม่ตกลงมาในช่วงเดือนสิงหาคมนี้คาดว่าจะเสียหายไม่ต่ำกว่า 50% หรือประมาณ 1.7 ล้านไร่ ซึ่งเป็นความเสียหายจำนวนมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหลายปีที่ผ่านมา
ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดฯ ได้เร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่เบื้องต้นเพื่อที่จะประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ไม่เกินวันที่ 15 ส.ค.นี้ เพื่อให้ทุกอำเภอทั้ง 32 อำเภอได้มีการสำรวจความเสียหายและนำเข้าสู่ที่ประชุมจังหวัดฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ตามระเบียบทางราชการ นาข้าวในอัตราไร่ละ 1,113 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 30 ไร่ และเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้ด้วย ซึ่งโคราชดำเนินการขึ้นทะเบียนไปแล้ว 90%
ส่วนปัญหาภัยแล้งดังกล่าวจะส่งผลต่อการผลิตข้าวของ จ.นครราชสีมา คาดว่าผลผลิตจะลดลงมากกว่า 50% หากไม่มีฝนตกลงมาอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ซึ่งได้รับผลกระทบหมดทั้ง 32 อำเภอ และล่าสุดอิทธิพล พายุโซนร้อยวิภาก็ไม่ได้นำฝนมาตกที่ จ.นครราชสีมาเลย พี่น้องประชาชนชาวนาชาวไร่ทุกคน และเราเองก็รออยู่ จนถึงขณะนี้ไม่มีฝนมาเลย และตอนนี้พายุวิภาไปแล้วด้วย ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ไม่มีพื้นที่อำเภอใดได้ฝนเลย เพราะพายุวิภามาไม่ถึง จ.นครราชสีมา
สำหรับอำเภอที่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงและนาข้าวเสียหายจำนวนมาก เช่น อ.ปากทาย, อ.โนนแดง, อ.สีดา, อ.คง, อ.บัวใหญ่, อ.ขามสะแกแสง, อ.พระทองคำ และ อ.โนนไทย เป็นต้น สภาพนาข้าวเหี่ยวแห้งยืนต้นตายเต็มท้องทุ่งนาหมด อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเดือนนี้มีฝนตกลงมาบางส่วนจะฟื้นได้ ซึ่งต้นข้าวบางส่วนไม่ได้เหี่ยวทั้งหมดทีเดียว ตัวลำต้นยังเขียวอยู่ ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกใหม่น่าจะมีผลกระทบอยู่บ้าง ตรงนี้ทางรัฐบาลคงจะต้องมาช่วยเหลือเยียวยาให้เกษตรกร
ด้าน นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา กล่าวว่า เขื่อนลำตะคองขณะนี้มีน้ำเพียง140 ล้าน ลบ.ม. หรือ 44.55% จากความจุ 314 ล้าน ลบ.ม. ในช่วงหน้าฝนทางกรมชลประทานได้วางแผนจัดการน้ำสำหรับหน้าฝนใน 4 กิจกรรมหลัก อันดับแรก เพื่อการอุปโภค บริโภคทั้งหมด 31ล้าน ลบ.ม. 2. เพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 43 ล้าน ลบ.ม. 3. เพื่อการอุตสาหกรรม 6 ล้าน ลบ.ม. และ 4. เพื่อการเกษตร 63 ล้าน ลบ.ม.ที่ได้วางแผนเพาะปลูกไว้ 131,000 ไร่ ตอนนี้ปลูกข้าวไปแล้ว 71,000 ไร่ หรือประมาณ 55% สภาพปัญหาจากฝนทิ้งช่วงในเขตชลประทานพบว่าเกษตรกรต้องมีการแย่งน้ำกันบ้าง แต่มีการประชุมคณะกรรมการผู้ใช้น้ำ หรือ JMC เราสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยวิธีการส่งน้ำแบบรอบเวร
ทางด้านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดนครราชสีมาได้นำเครื่องสูบน้ำระยะไกลไปติดตั้งไว้บริเวณคลองน้ำลำสะแทด อ.ขามสะแสง จ.นครราชสีมา เพื่อดำเนินการสูบน้ำจากลำน้ำลำสะแทด ระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร เข้าไปเก็บกักไว้ในสระน้ำบ้านโนนหญ้าคา หมู่ที่ 7 ต.ขามสะแกแสง หลังจากปริมาณน้ำภายในสระน้ำของหมู่บ้านแห้งขอด จนไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ผลิตน้ำประปาได้ ทาง ปภ.จ.นครราชสีมาจึงได้นำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งเพื่อช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่จำนวน 130 หลังคาเรือน ให้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคได้ในระยะนี้
นายแย้ม ชอบมะรัง สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลขามสะแกแสง เปิดเผยว่า การดำเนินการสูบน้ำเข้าสระน้ำในหมู่บ้านครั้งนี้เป็นการสูบน้ำครั้งที่ 2 แล้วในรอบปีนี้ ซึ่งการสูบน้ำครั้งนี้คาดว่าจะสามารถผลิตน้ำประปาให้ชาวบ้านได้ใช้อุปโภค บริโภคได้อีกเพียงแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติมชาวบ้านในพื้นที่ต้องขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่แม่น้ำชี ช่วงที่ไหลผ่าน อ.บ้านเหลื่อม จ.นครราชสีมา ขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีแห้งขอดมองเห็นเป็นเพียงลำธารขนาดเล็ก ไม่มีน้ำมากพอให้ชาวบ้านสามารถสูบขึ้นมาใช้อุปโภคบริโภค และทำการเกษตรได้
นายเสงี่ยม พันธุ์นอก ชาวบ้านโนนประดู่ หมู่ที่ 3 ต.บ้านเหลื่อม อ.บ้านเหลื่อม จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหลายสิบปีไม่เคยเห็นน้ำในแม่น้ำชีแห้งขอดเช่นนี้มาก่อนในฤดูฝน ซึ่งทุกปีเมื่อถึงช่วงเข้าพรรษาปริมาณน้ำในแม่น้ำชีจะเกินครึ่งหรือเกือบเต็มตลิ่ง เกษตรกรสามารถสูบน้ำมาทำการเกษตรได้ไม่มีขาดแคลน แต่มาในปีนี้ฝนไม่ตกติดต่อกันมาหลายเดือน แม่น้ำชีแห้งขอด ทำให้ต้นข้าวต้องยืนต้นตายจนหมด ทั้งนี้ชาวบ้านได้แต่ภาวนาให้ฝนกลับมาตกอีกครั้งในช่วง 1-2 เดือนนี้ เพื่อจะได้พอมีน้ำไว้ใช้ช่วงเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกปีหน้าอีกครั้ง ส่วนฤดูเพาะปลูกปีนี้คงหมดหวังจากการทำนาแล้ว