xs
xsm
sm
md
lg

สุดทน! ปางช้างไทยตั้งโต๊ะจวกสื่อนอก บิดเบือน-จงใจชูภาพตะขอสับหัวช้างปั่นกระแสดรามาทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เชียงใหม่ - ผู้ประกอบการปางช้างไทยรวมตัวตั้งโต๊ะจวกสื่อนอกบิดเบือนข่าวโจมตี-ทำลายการท่องเที่ยวช้างไทย แฉทำเป็นขบวนการมานานกว่า 20 ปี ล่าสุดใช้ภาพตะขอสับหัวช้างปั่นกระแสดรามาทั่วโลก เชื่อกลุ่มคนไทยโลกสวยมีเอี่ยว

วันนี้ (5 ส.ค.) ดร.บุญทา ชัยเลิศ ประธานบริหารปางช้างแม่แตง, นายแก้ว บุตรชาติ ควาญช้างอาวุโส ผู้ดูแลพระเศวต ช้างเผือกประจำรัชกาลที่ ๙, นายลายทองเหรียญ มีพันธุ์ ประธานกลุ่มคชสารคู่แผ่นดิน เจ้าของปางช้างแลเพนียด จ.พระนครศรีอยุธยา สมาคมสหพันธ์ช้างไทย, ดร.นฤมล ศรียานนท์ นักสร้างหนังสารคดีฮอลลีวูด ผู้สร้างหนังสารคดีช้างไทย Elephant in motion, ปางช้างแม่สา, ปางช้างแม่ตะมาน, บ้านช้างเอเลแฟ่นท์พาร์ค, ปางช้างเผือก, ชมรมปางช้างแม่วาง, ปางช้างโชคชัย, ปางช้างแม่แตง, ปางช้างภัทรฟาร์ม, สมาคมมัคคุเทศก์จังหวัดเชียงใหม่ และนายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวแม่แตง ได้เปิดแถลงข่าวที่โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ ถนนห้วยแก้ว อ.เมืองเชียงใหม่

กรณีที่สื่อต่างประเทศเผยแพร่ข่าวโจมตีการท่องเที่ยวช้างไทยอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ข้อมูลที่เลื่อนลอยไม่เป็นความจริงหยิบขึ้นมาโจมตี แต่ก็ได้สร้างผลกระทบต่อวงการช้างไทยเป็นอย่างมาก เป็นการรวมตัวกันเพื่อปกป้องศักด์ศรีของช้างไทยและคนเลี้ยงช้าง

กรณีสำนักข่าวนิวซีแลนด์เฮอรัลด์ได้ตีพิมพ์บทความโจมตีการท่องเที่ยวช้างไทยว่ามีความทารุณโหดร้าย โดยนำภาพที่มีร่องรอยการทำร้ายบริเวณหน้าผากของช้าง ซึ่งทำให้คนที่พบเห็นสังเวชสร้างความสงสารให้กับช้าง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปในวงกว้าง และลามมาถึงสื่อมวลชนของประเทศไทยที่นำมาขยายผลสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงการช้างไทย ส่งผลให้เกิดภาพลบต่อวงการท่องเที่ยวช้างไทย

ซึ่งเนื้อหาที่สำนักข่าวนิวซีแลนด์เฮอรัลด์ได้อ้างถึงนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยแล้วถ่ายภาพไปลงในทวิตเตอร์ส่วนตัว แต่ไม่ได้อ้างอิงถึงบัญชีทวิตเตอร์นั้นเลย นับว่าแหล่งข้อมูลของข่าวมีความเลื่อนลอยไร้ความเป็นจริงที่น่าเชื่อถือ และในบทความนี้ยังได้กล่าวอ้างด้วยว่ามีการสัมภาษณ์โฆษก ททท.ว่าห้ามให้มีการนั่งช้างและอย่าได้สนับสนุนธุรกิจแบบนี้ ทาง ททท.ไม่ได้สนันสนุนให้นักท่องเที่ยวนั่งช้าง โดยไม่ได้ระบุถึงชื่อผู้ให้สัมภาษณ์

และเป็นที่น่าสังเกตว่าบทความนี้ระบุว่าเป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นธุรกิจอีกประเภทหนึ่งของสำนักข่าวที่ขายพื้นที่ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบของบทความ แสดงให้เห็นว่ามีขบวนการจ้องทำลายประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรรมการท่องเที่ยวไทยที่ได้รับความนิยมอย่างสูงไปทั่วโลก โดยหยิบกรณีช้างไทยถูกทารุณในธุรกิจท่องเที่ยวช้างมาเป็นเป้าหมายหลักในการทำลายการท่องเที่ยวของประเทศไทย

นางวาสนา ทองสุข ชัยเลิศ ผู้บริหารปางช้างแม่แตง กล่าวให้ความเห็นว่า ยี่สิบกว่าปีที่ได้ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวมา ช้างไทยถูกคนกลุ่มหนึ่งในประเทศไทยโจมตีมาตลอด ไม่ทราบว่าเขาหวังผลอะไร จะทำลายธุรกิจคนอื่นเพื่อมูลนิธิ หรือธุรกิจของตัวเองหรืออย่างไร หรือต้องการจะทำลายประเทศไทยกันแน่

เพราะโดยส่วนตัวแล้วเราก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับช้างเหมือนกัน รักช้างไม่น้อยไปกว่าใคร และ 20 กว่าปีที่ทำงานกับช้างมานี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นด้านคุณภาพชีวิตของช้างไทย จากที่ช้างเคยทำงานหนักลากซุง ผอมแห้ง นิสัยไม่ดีก้าวร้าว วันนี้ช้างแทบทุกเชือกที่อยู่ในวงการท่องเที่ยวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงขึ้นเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์

จากช้างที่เกือบจะสูญพันธุ์ ออกลูกยาก แต่ตอนนี้ชาวช้างพวกเราก็ช่วยกันเลี้ยงดู และขยายพันธุ์จนสำเร็จมากมายเกิน 100% ในแต่ละปีจะมีลูกช้างคลอดมากมาย และจากอดีตมีปัญหาช้างเร่ร่อน หากินข้างถนน มาวันนี้แทบจะไม่มีช้างเร่ร่อนอยู่เลย เพราะช้างเข้าสู่การท่องเที่ยว และที่สำคัญสวัสดิภาพการดูแลรักษาช้างของประเทศไทยเราก็ก้าวหน้าอันดับต้นๆ ของโลก

“ทุกอย่างเป็นเชิงสร้างสรรค์ เป็นด้านบวกทั้งนั้นกับวงการช้างชีวิตช้างไทย แล้วทำไมจึงต้องมุ่งโจมตีกันอยู่ตลอดเวลา สร้างข่าวสร้างกระแสให้คนเกลียดประเทศไทยไปทำไมกัน”

นางวาสนายังกล่าวต่อไปว่า ต้องการให้ภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำงานด้านการท่องเที่ยวโดยตรงเข้ามาดูแลตรงจุดนี้ด้วย เพราะหน้าที่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไม่ใช่แค่ว่าไปโฆษณาให้คนมาเที่ยวไทยเท่านั้น แต่ควรที่จะตามให้รู้เท่าทันกระแสโลกว่าตอนนี้มีการโจมตีช้างไทยอย่างรุนแรง

“ไม่ใช่แค่เฉพาะตอนนี้เท่านั้น แต่ธุรกิจท่องเที่ยวช้างไทยถูกโจมตีต่อเนื่องมาตลอดเป็นเวลานานกว่ายี่สิบปีแล้ว แต่ภาครัฐกลับไม่ได้ให้ความสนใจที่จะปกป้องธุรกิจช้างไทยแต่อย่างใด ไม่ตอบโต้หรือทำความเข้าใจใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่ชาวช้างเท่านั้นที่ต้องดิ้นรนหาทางต่อสู้ด้วยตัวเอง ทั้งๆ ที่ธุรกิจท่องเที่ยวช้างไทยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ ดึงรายได้เข้าประเทศไทยเป็นจำนวนไม่น้อย แต่กลับไม่ได้รับการดูแลเหลียวแลจากภาครัฐเลย”

นางวาสนาบอกว่า อยากจะเรียกร้องให้รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวช้างไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะครั้งนี้มีการกล่าวอ้างถึงคำพูดของบุคลากรในองค์กรของภาครัฐที่พูดออกไปด้วยความรุนแรงที่สุด สร้างความเสื่อมเสียให้กับวงการช้างไทย และคิดว่าน่าจะสร้างความเสื่อมเสียแก่องค์กรหน่วยงานภาครัฐที่อ้างอิงถึงในเนื้อหาของบทความจากนิวซีแลนด์เฮอรัลด์ฉบับนี้ด้วย เพราะระบุชัดเจนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์กรภาครัฐ แม้จะไม่ระบุชื่อของแหล่งข่าวก็ตาม แต่ระบุตำแหน่งไว้อย่างชัดเจน และทางเราก็ต้องการความชัดเจนจากองค์กรประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของรัฐบาลไทยด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ผศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยช้างและสัตว์ป่า อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้าง ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีปางช้างไทยที่ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวว่า มีการพัฒนาไปมาก มีการเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่เคยมีแต่การแสดง และการขี่ช้าง เพิ่มการทำกิจกรรมกับช้าง เช่น อาบน้ำ ให้อาหาร เดินไปกับช้าง การดูแลสุขภาพช้าง และการให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว สร้างความหลากหลายทางกิจกรรมให้เลือก รวมทั้งมีการลดการแสดงที่ผิดธรรมชาติ เช่น ยืนสองขา หกสามเส้า เป็นต้น

“ปางช้างเพื่อการท่องเที่ยวในประเทศไทยมีการพัฒนาการดูแล การจัดการทางด้านสวัสดิภาพมากขึ้น และ มีสัตวแพทย์ที่ช่วยดูแลสุขภาพช้างก็มีมากขึ้นทั่วถึงมากขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนางานวิจัยและงานทางวิชาการเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของช้าง และยอมรับว่าการดูแล การจัดการ การพัฒนาสวัสดิภาพของช้างดีขึ้นโดยรวมแต่ก็ยังไม่ทั้งหมด จึงต้องขอให้คนที่ทำงานเกี่ยวกับช้างร่วมกันสอดส่องดูแลปางช้างที่มีการดูแลช้างไม่ดีเท่าที่ควรช่วยแนะนำให้คำปรึกษา พัฒนาการจัดการปางช้างเพื่อการท่องเที่ยวไปด้วยกัน รวมทั้งให้มีมาตรฐานปางช้างที่เน้นด้านสวัสดิภาพเพื่อช่วยยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของช้าง และควาญช้าง”

ดร.นฤมล ศรียานนท์ นักสร้างสารคดีรางวัลระดับโลกเจ้าของผลงานสารคดีช้างไทย Elephant in motion ได้กล่าวว่า เราต้องเสนอความจริง เพราะว่าโลกที่เป็น ethical tourism หรือที่เราเรียกกันว่ากลุ่มโลกสวยกลุ่มนี้เขาเข้าใจในแนวที่เขาต้องการที่จะมองถึงว่าช้างต้องอยู่กับแนวธรรมชาติอย่างเดียว เขาไม่เข้าใจคำว่าช้างต้องอยู่กับป่าเท่านั้น ไม่ใช่ช้างที่อยู่กับคน

แต่คำว่าช้างเลี้ยงของประเทศไทยก็คือ ช้างที่บรรพบุรุษจับมาแล้วใช้งานแตกลูกแตกหลานกันต่อมาเป็นช้างบ้าน เป็นช้างที่เกิดมาอย่างที่เรียกว่าในครอบครัว มีการปฏิบัติต่อช้างอย่างลูกหลาน มีวัฒนธรรมอย่างที่เรียกว่าเลี้ยงช้างอย่างลูกตัวเอง ฝรั่งเขาต้องเรียนรู้ เขาไม่เข้าใจ ต้องทำให้เขาเข้าใจเรื่องช้างเลี้ยง วัฒนธรรมการเลี้ยงช้างของคนไทย

“เราต้องสื่อสารต้องพูดต้องเล่า ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว และในการเคลื่อนไหวในสื่อระดับโลกเราก็ต้องสื่อออกไปอย่างที่ตัวเองเคยทำมา คือผลิตหนังผลิตสื่อที่สร้างความเข้าใจให้ถูกต้องในวิถีวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างแบบไทย เราต้องให้ความสำคัญต่อการสื่อสารความเป็นจริงออกไปให้โลกได้รับรู้ ไม่ใช่ปล่อยให้ขบวนการของเขาทำร้ายประเทศไทยอยู่ฝ่ายเดียว”
กำลังโหลดความคิดเห็น