เชียงราย - กรมวิชาการเกษตร-สถาบันวิจัยพืชสวนฯ เปิดงาน “ทุ่งทิวลิปสยามบาน หลากสีสันพรรณไม้หัว” พร้อมโชว์ทิวลิปฯ 4 พันธุ์ใหม่ หนุนคนปลูกส่งออก บอกต่างประเทศรอซื้อเพียบ
วันนี้ (5 ส.ค.) นายจำลอง ดาวเรือง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดงาน “ทุ่งทิวลิปสยามบาน หลากสีสันพรรณไม้หัว” ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย อ.เมืองเชียงราย โดยมีนายสนอง จรินทร ผอ.สถาบันวิจัยพืชสวนเชียงราย นำคณะเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ภายในงานมีการจัดแสดงพืชประเภทดอกและไม้หัวจำนวนมาก รวมถึงพืชดอกปทุมมาพันธุ์ใหม่ ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร 4 พันธุ์ ได้แก่ เชียงราย 1 เชียงราย 2 เชียงราย 3 และเชียงราย 4 ตลอดจนพืชตระกูลกระเจียว ไม้ดอกไม้ประดับประเภทหัว กล้วยไม้ดินที่มีการรวบรวมเชื้อพันธุกรรมโดยศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย
นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยของศูนย์และหน่วยงานในสังกัดรวมถึงภาคเอกชน การจัดเสวนาทางวิชาการเกษตรเรื่องการผลิตปทุมมาและพืชประเภทหัวในระบบไม่ใช้ดิน และการสาธิตการแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วย
นายจำลองกล่าวว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายของไม้ดอกไม้ประดับประเภทหัวที่เจริญเติบโตได้ดี สวยงามทั้งรูปทรงและสีสัน ที่ผ่านมามีไม้หัวหลายชนิดที่ขึ้นชื่อ เช่น ธรรมรักษา ซ่อนกลิ่น ขิงแดง ปักษาสวรรค์ ว่านสี่ทิศ ดาหลา นางกวักพญาใหญ่ ว่านแสงอาทิตย์ หงส์เหิร และพืชในกลุ่มปทุมมากับกระเจียว ซึ่งสวยงามไม่แพ้ไม้หัวของประเทศตะวันตก แต่เนื่องจากที่ผ่านมาการส่งเสริมการปลูกยังไม่แพร่หลาย ทำให้คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักและไม่มีโอกาสชื่นชมความงามของไม้หัวจากประเทศไทย ดังนั้นการจัดงานครั้งนี้จึงจะเป็นประโยชน์มาก
ด้านนายสนองกล่าวว่า ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายเป็นหน่วยงานที่รวบรวมพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์พืชในกลุ่มปทุมมาและกระเจียวไว้มากที่สุดในประเทศไทยกว่า 500 สายพันธุ์ แต่ที่ผ่านมาเมื่อทำการวิจัยแล้วเสร็จก็ไม่มีกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประโยชน์ ปีนี้จึงได้จัดงานดังกล่าวขึ้น เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ไปจนถึงวันที่ 15 ส.ค.นี้ เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตหัวพันธุ์ปทุมมาปลอดโรคเพื่อการส่งออก การแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของไม้หัวเมืองร้อนที่มีศักยภาพ และเพื่อทดสอลการยอมรับพันธุ์และแนวโน้มความต้องการของตลาดด้วยต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกพืชชนิดนี้ได้มากเป็นอันดับ 2 รองจากกล้วยไม้ มีมูลค่าปีละกว่า 30-40 ล้านบาท ขณะที่ตลาดมีความต้องการมากกว่า 200 ล้านบาท ทำให้ยังคงมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ขณะที่มีผู้สนใจปลูกกันน้อยเพราะยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก