xs
xsm
sm
md
lg

ทภ.3 ส่งทหารช่วยเดินหน้าทำฝนเทียมตลอดฤดูฝนปีนี้ เตรียมเปิดฐานบินแพร่อีก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิษณุโลก – ทภ.3 ส่งกำลังพลช่วยขนสารขึ้นเครื่องทำฝนเทียมต่อเนื่องตลอดหน้าฝนปีนี้ หวังเพิ่มน้ำในเขื่อน-อ่างเก็บน้ำทุกแห่ง เผยคุณภาพฝนแท้-ฝนเทียม ไม่ต่างกัน สารยูเรีย (46-0-0)แค่เชื้อกระตุ้นให้ฝนตกไม่มีผลทำให้พืชโตเร็ว

วันนี้(27 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลตรีบัญชา ดุริยพันธ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 ได้เข้าให้กำลังใจเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิษณุโลก พร้อมนำทหารกองทัพภาคที่ 3 ช่วยขนสารเคมีทำฝนเทียมขึ้นเครื่องบิน 3 ลำ เพื่อขึ้นบินทำฝนเทียมในเขตรอยต่อพิจิตร-กำแพงเพชร ที่ประสบภาวะภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วง

พลตรีบัญชา เปิดเผยว่า กองทัพฯ จะประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในภาคเหนือ เพื่อแก้ไขภัยแล้งและเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน ที่มีน้ำอยู่เพียง 30%เท่านั้น ซึ่งทหารพร้อมสนับสนุนการทำฝนหลวง โดยส่งกำลังพลไปช่วยขนสารเคมีขึ้นเครื่องตามหน่วยบินฝนหลวงในภาคเหนือคือ เชียงใหม่ ตาก พิษณุโลก และ 1 สิงหาคมนี้ จะเปิดฐานบินฝนหลวงใหม่ที่จังหวัดแพร่ด้วย

ซึ่งการทำฝนหลวง ต้องใช้สารปริมาณมาก ทั้งเกลือแกง, ยูเรีย, น้ำแข็งแห้ง และก่อนจะขึ้นบินก็ต้องดูความเหมาะสมของสภาพอากาศก่อนว่า มีความชื้นเพียงพอหรือไม่ ก้อนเมฆเป็นอย่างไร ก่อนนำเครื่องบินเข้าไปในกลุ่มเมฆเพื่อเลี้ยงให้อ้วนและทำให้ฝนตก

“ขอให้คนไทยทุกคนมั่นใจ ทหารทำงานอย่างเต็มที่ พร้อมจะทำให้ฝนตกเหนือเขื่อน ทำให้มีน้ำใช้ทั้งปี ยืนยันว่า จะทำฝนหลวงต่อเนื่องตลอดทั้งฤดูฝนปีนี้”

นางสาวหนึ่งหทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ เปิดเผยว่า อุปสรรคในการทำฝนหลวงในฤดูฝน คือลมชั้นบนกำลังแรง ยากที่จะคำนวณทิศทางลมให้เหมาะสมว่าฝนจะตกบริเวณใด ส่วนฝนที่ตกลงมาช่วงนี้ ขอให้ประชาชนอย่าได้กังวล เนื่องจากฝนเทียมกับฝนธรรมชาติ ไม่แตกต่างกัน

“หลักง่ายๆ แทนที่ เราจะรอให้ฝนตกเอง เราก็เอาสารเคมีที่เลียนแบบธรรมชาตินี่แหละกระตุ้นให้เกิดฝน ซึ่งธรรมชาติจริงๆ ก็คือ ไอเกลือ ถ้าความชื้นมีมากพอ เราก็ให้เกลือโซเดียมคลอไลด์เข้าไปกระตุ้นเมฆให้เกิดฝนเร็วขึ้น แทนที่จะรอเวลา อีกทั้งยังเพิ่มปริมาณฝนให้ตกมากขึ้นอีก”

นางสาวหนึ่งหทัย บอกว่า ฝนที่ตกลงมา แยกไม่ออกระหว่างฝนธรรมชาติกับฝนเทียม เพราะคุณภาพน้ำฝนไม่แตกต่างกัน ซึ่งเรามีการเก็บตัวอย่าง เอาไปวิเคราะห์ในห้องปฎิบัติการ เพื่อดูว่า คุณภาพ น้ำฝนที่ทำ แตกต่างจากฝนธรรมชาติอย่างไร สรุปก็คือ ไม่แตกต่างกัน สามารถนำไปใช้อุปโภคบริโภคได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝนแบบไหน ก็ต้องต้มให้สุกก่อนเท่านั้น

ส่วนสาร”ยูเรีย”หรือ ปุ๋ย 46-0-0 (N - P- K)ถือเป็นส่วนประกอบในการทำฝนเทียมนั้น พบว่า มีเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำฝนทั้งก้อนเมฆ ผลวิเคราะห์ออกมาแล้วว่า ไม่แตกต่างกัน สารยูเรียเป็นเพียงแค่เชื้อไปกระตุ้นเท่านั้น และไม่ได้ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงามเพราะฝนเทียม เนื่องจากตามธรรมชาติ ก็มีสารไนโนเจน (N)อยู่แล้ว สรุปว่า การทำฝนเทียม ก็คือ การกระตุ้นให้ฝนตกเร็วขึ้น และทำให้ฝนตกในปริมาณหนาขึ้นเท่านั้น

กำลังโหลดความคิดเห็น