xs
xsm
sm
md
lg

ปีนี้ตายรวม 5 รายแล้ว! สสจ.เร่งสอบสวนโรคเนื้อเน่า พบ 5 ปีคนน่านป่วยรวม 227 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น่าน - สสจ.-สนง.ป้องกันควบคุมโรคฯ เร่งสอบสวนโรคเนื้อเน่า พบ 5 ปีมีคนน่านป่วยรวม 227 ราย เฉพาะปีนี้ป่วยแล้ว 51 ตาย 5 รายแล้ว ย้ำไม่ใช่โรคใหม่-ไม่ติดต่อ แต่เป็นภัยคร่าชีวิตที่ป้องกันได้ เร่งสั่ง รพ.สต.ทุกแห่งเตรียมพร้อมล้างแผล

วันนี้ (25 ก.ค.) นายแพทย์ นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน พร้อมด้วยนายอำนวย ทิพศรีราช นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดน่าน ร่วมกันสอบสวนการระบาดของโรคผังผืดอักเสบมีเนื้อตาย หรือโรคเนื้อเน่า ที่เกิดการระบาดในพื้นที่จังหวัดน่านตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562

ขณะนี้ที่โรงพยาบาลน่านมีผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษารวม 51 ราย โดยพบผู้ป่วยกระจายในทุกอำเภอ พบมากที่สุดคือพื้นที่อำเภอเมืองน่าน อำเภอเวียงสา อำเภอภูเพียง และอำเภอท่าวังผา ตามลำดับ เสียชีวิตแล้ว 5 ราย (เสียชีวิตที่ รพ.น่าน 1 ราย เสียชีวิตที่บ้าน-พบตอนชันสูตรอีก 4 ราย) และยังมีอาการหนักรักษาตัวในห้องไอซียู 2 ราย

จากการสอบสวนโรคพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและชาวนาที่ต้องทำงานในแปลงนาข้าว นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ป่วย 3 รายที่ได้รับเชื้อจากการลงงมหอย หาปลาในแม่น้ำน่านด้วย

นายแพทย์ นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผู้ป่วยโรคผังผืดอักเสบมีเนื้อตาย หรือโรคเนื้อเน่า ในห้วงเวลา 5 ปี คือตั้งแต่ปี 2558-2562 พบผู้ป่วยเฉลี่ยปีละประมาณ 45 ราย รวม 227 ราย เป็นเพศชาย 146 ราย และเพศหญิง 83 ราย อายุเฉลี่ยประมาณ 59-60 ปี และมักพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลทำนา ซึ่งแนวโน้มสถานการณ์ในปีนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าทุกปีเนื่องจากเข้าสู่ช่วงต้นฤดูกาลทำนา

โดยกลุ่มเสี่ยงเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ร่างกายอ่อนเพลีย ดื่มสุรา มีประวัติการใช้ยาสเตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกัน รวมถึงชาวนา เกษตรกร หรือประชาชนที่ต้องทำงานสัมผัสกับดินโคลนเลนโดยตรงเป็นเวลานาน เมื่อเกิดบาดแผลทางผิวหนังทำให้ได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย

ส่วนกลุ่มเชื้อแบคทีเรียที่จะทำให้เกิดโรคเนื้อเน่ามีหลายชนิด เช่น สเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ, คลอสตรีเดียม, เคล็บเซลลา, สแตฟิโสคอคคัส ออเรียส, อีโคไล และแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่และไม่เป็นโรคติดต่อ แต่เป็นโรคเฉพาะบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากมีบาดแผลทางผิวหนังและได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย

ขณะที่ประเด็นเรื่องสารเคมีในพื้นที่การเกษตรเป็นสาเหตุของโรคเนื้อเน่ายังไม่มีรายงานผลการวิจัย หรือรายงานทางวิชาการอ้างอิงได้ จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสาเหตุหลักของโรคดังกล่าว แต่สารเคมีเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง เมื่อเกาจึงเกิดเป็นบาดแผลรอยถลอก ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายได้แน่นอน

ขณะนี้ สสจ.ได้เร่งประสานทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ทุกพื้นที่ เตรียมพร้อมสำหรับการให้บริการล้างบาดแผล ให้ความรู้ ความเข้าใจ และเตือนเกษตรกร รวมถึงประชาชน สังเกตอาการของโรค หากมีบาดแผล มีอาการปวด บวมแดง อักเสบ ไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นไข้สูง ขอให้รีบไปยัง รพ.สต.ใกล้บ้าน เพื่อล้างทำความสะอาดแผล เข้าสู่ระบบการรักษาตั้งแต่ต้น

ในส่วนของเกษตรกรและชาวนาที่ต้องลงแปลงนาและสัมผัสกับดินโคลนโดยตรง ขอให้ใส่ชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบูต ถุงมือยาง และหากมีบาดแผลทางผิวหนังให้รีบล้างน้ำสะอาดและทำแผลทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น