xs
xsm
sm
md
lg

กรมอุทยานฯ วางข้ามปีป้องกันไฟป่า เผยป้องกันดีกว่าไล่จับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กาญจนบุรี - รองอธิบดีกรมอุทยานฯ คาดปีหน้ามลพิษกลุ่มควันจากไฟป่า ภาคเหนือ และ จ.กาญจน์ รุนแรงขึ้น โดยพร้อมบังคับใช้กฎหมายเฉียบขาด และวางแผนป้องกันข้ามปี ด้วยนิยาม “ป้องกัน ดีกว่าไล่จับ” หากพบโทร.แจ้งสายด่วน 1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

วันนี้ (25 ก.ค.) นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวในขณะเดินทางมาเป็นประธานปิดโครงการฝึกอบรมและพัฒนาการควบคุมไฟป่าภาคกลาง หลักสูตรเสริมสมรรถนะผู้นำหน่วยดับไฟป่า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จำนวน 1 รุ่น เมื่อหลายวันก่อน ที่ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการควบคุมไฟป่าภาคกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หมู่ 1 ต.ช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โดยกล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยทุกคนคงทราบดีว่าสถานการณ์ไฟป่า โดยเฉพาะเรื่องของหมอกควันจากไฟป่ามันมีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ปี 2561 ที่ผ่านมา สถานการณ์ควันไฟเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" ทรงเป็นห่วงเป็นใยในเรื่องนี้มาก

โดยปีที่ผ่านมา พระองค์ท่านได้พระราชทานเครื่องเป่าลมให้แก่ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ เอาไว้ใช้ในกิจกรรมดับไฟป่า ทางกรมอุทยานฯ อยากให้มีการเพิ่มศักยภาพการทำงานของคณะเจ้าหน้าที่ คือหัวหน้าผู้นำในเรื่องของการดับไฟป่า หัวหน้าหน่วยงานภาคสนามทั้งหมด ต้องเตรียมความพร้อมไว้ก่อน เพราะปีหน้าเชื่อว่าเราจะต้องผจญกับเรื่องของหมอกควันจากไฟป่าอีก หัวหน้าชุดที่มาฝึกอบรมระหว่างวันที่ 21-23 ก.ค.ที่ผ่านมา จะได้นำความรู้และประสบการณ์จากการฝึกอบรมต่างๆ ไปทำความเข้าใจกับผู้ใต้บังคับบัญชา หรือลูกน้อง หรือเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศอีกครั้งหนึ่ง

การฝึกอบรมมันจึงเป็นเรื่องของการทบทวน ทั้งด้านทฤษฎี ทั้งภาคปฏิบัติ ในการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกันในปีต่อไป ไฟป่าจะมาในช่วงเดือนมีนาคม เดือนเมษายนของปีถัดๆ ไป ซึ่งตอนนี้เราได้เริ่มเตรียมความพร้อมเอาไว้แล้ว การถอดบทเรียนครั้งนี้เท่าที่พอจะสรุปได้ว่าในปีถัดไปเราจะต้องมีมาตรการต่างๆเข้ามาเสริมเพิ่มคือ เรื่องของการลดปริมาณเชื้อเพลิง หรือการชิงเผาก่อนการห้ามเผา โดยเฉพาะ 9 จังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งมีปัญหาทุกปี เราจะมีการมาทำความเข้าใจในเรื่องของพื้นที่เกษตรกร หรือว่าพื้นที่ในป่าจะต้องมีการจัดการเรื่องของวัสดุ เศษวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง เราจะจัดการกันยังไง ให้มันหมดไปก่อนจะถึงฤดูกาล

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการจัดการแนวกันไฟ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหนก็แล้วแต่ สำนักงานของกรมอุทยานฯ หรือกรมป่าไม้ ต้องมาบูรณาการร่วมกันว่าตรงไหนควรทำตรงเป็นจุดที่ล่อแหลม เรื่องการบังคับใช้กฎหมายถึงช่วงเวลาที่เราไม่ไหวแล้วจริงๆ ก็คือช่วงเวลา 60 วัน ซึ่งทางภาคเหนือเขาจะมีมาตรการ 60 วัน ก่อนการห้ามเผา ต้องมีการนำมาตรการการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างเฉียบขาด

ขณะเดียวกัน จะมีการทำความเข้าใจกับกฎหมายใหม่ กฎหมายของกรมอุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า จะมีการเพิ่มโทษในเรื่องของการที่คนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในช่วงนั้น สิ่งสำคัญสุดท้ายก็คือเรื่องขององค์กรจิตอาสา ปีหน้าคงจะมีสมาชิกจิตอาสาเข้ามาช่วยเราในการป้องกันเรื่องของไฟป่าเพิ่มขึ้น

สุดท้ายคือ ทางอธิบดีกรมอุทยานฯ นายธัญญา เนติธรรมกุล มีความเป็นห่วงเป็นใย เรื่องสุขภาพของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ปีหน้าคงจะมีการบังคับให้เจ้าหน้าที่ของเราที่ขึ้นไปดับไฟ มีอุปกรณ์ป้องกันตัว ไม่ว่าจะเป็นแว่นตา หน้ากาก ถึงเวลาไปดับไฟอุปกรณ์ต่างๆ ที่ยังขาดอยู่เราจะเสริมเข้าไปเพื่อดูแลสุขภาพของเขาด้วย เพราะว่าในปีที่ผ่านมา เมื่อเจ้าหน้าที่ของเราขึ้นไปดับไฟป่ามักจะได้รับควันจากการเกิดไฟป่าเข้าตาเข้าจมูกบ้าง ซึ่งบางครั้งเขาไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นเราต้องมีการป้องกันเจ้าหน้าที่ของเราด้วย

เรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่า จะเป็นอีกกรณีหนึ่ง ตรงนี้เราเริ่มที่จะตั้งหลักกันได้พอสมควร เรามีการกำหนดพื้นที่ที่ควบคุมที่ราษฎรอาศัยอยู่ เรามีการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายออโต้สีรุ้ง เพราะฉะนั้นถ้ามีการบุกรุกเพิ่มเข้ามา ต่อไปไม่ต้องคุยกันแล้ว เพราะเรารู้หมดแล้วว่าพื้นที่มันอยู่ตรงไหนบ้าง ป่าที่เหลืออยู่ทั้งหมด 66 ล้านไร่ ของกรมอุทยานฯ ตอนนี้มีประชาชนเข้าไปอยู่ประมาณ 4.8 ล้านไร่ เรารู้หมดแล้วว่าอยู่ตรงไหนบ้าง เพราะฉะนั้นจะไม่มีการบุกรุกมากไปกว่านี้อีก ถ้ามีการขยับพื้นที่เมื่อไหร่เราจะเข้าไปดำเนินคดีทันที

ส่วนในเรื่องของการที่มีนายทุนเข้าไปส่งเสริมให้ราษฎรเข้าป่าคงอาจจะมีบ้างแต่คงไม่มาก แต่น่าจะเป็นกิจกรรมของราษฎรที่อยู่ติดพื้นที่ป่าที่มีการทำการเกษตรการเตรียมพื้นที่ เวลาจะกำจัดเศษวัสดุในการทำการเกษตร จะใช้วิธีการเผา โดยไม่มีการควบคุมไฟมันก็จะลุกลามเข้าไปในป่า โดยเฉพาะป่าเต็งรัง

อีกประเด็นคือ เรื่องของการล่าสัตว์ บางครั้งจุดไฟเผาเพื่อให้สัตว์ป่าวิ่งเข้ามารวมกันเพื่อที่จะได้ล่าได้สะดวกขึ้น หรือรวมทั้งการเก็บหาของป่า เช่น เห็ดเผาะ และของป่าชนิดอื่นๆ ชาวบ้านจะใช้วิธีการเผาเพื่อที่จะเดินเข้าไปในพื้นที่ได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งหลักๆ จะมีแค่ 3 กรณีนี้ที่เราจะต้องเข้าไปจัดการ

สำหรับในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี มีการบุกรุกด้วยวิธีการเผาเพิ่มขึ้นหรือไม่ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตอบว่า การเผาอันที่จริงไม่ใช่การบุกรุก แต่เป็นเพียงแค่เมื่อเผาแล้วไฟจะลามเข้าไปในผืนป่า และจะทำให้ระบบนิเวศมันเสียหายไปเท่านั้น

การบุกรุกป่าส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าไปแผ้วถางเพื่อเปิดพื้นที่ แล้วลงมือทำการเกษตรเลย กรณีนี้ยังมีอยู่ แต่ว่าเปอร์เซ็นต์ที่ผ่านมา จากรัฐบาลชุดที่แล้ว หรือรัฐบาล คสช.ที่มาช่วยกันทำงาน มีการป้องกัน มีการบูรณาการร่วมกันระหว่าง มหาดไทย ทหาร ป่าไม้ ปรากฏว่า 4 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ยังมีการบุกรุกอยู่ แต่ว่าลดน้อยลงเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนนี้

เมื่อก่อนนี้การบุกรุกพื้นที่อยู่ที่ปีละประมาณ 100,000 ไร่ หรือหลายแสนไร่ แต่ว่า 3-4 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ของกรมอุทยานฯ มีการบุกรุกลดลงเหลือหลักหมื่นไร่ต่อปี ซึ่งถือว่าลดน้อยลงไปมาก แต่ยังไม่หมด เพราะที่ผ่านมา ยังมีการจับกุม การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาไม่ว่าจะเป็นดาวเทียม ถ้ามีการบุกรุกตรงไหน ต่อไปเราจะรู้หมด และสามารถเข้าไปดำเนินการจับกุมได้ทันที

ในส่วนของกรมอุทยานฯ จะเน้นไปในเรื่องของราษฎรที่อาศัยอยู่ติดกับชายป่าหรืออาศัยอยู่กลางป่า และมีอาชีพทำการเกษตร และขอให้เกษตรกรที่มีวิถีชีวิตเข้าไปพึ่งพิงธรรมชาติ ขอให้ช่วยกันดูแล ในช่วงฤดูที่เกิดเหตุการณ์แรงๆ โดยเฉพาะช่วงเดือน มี.ค-เม.ย.ของทุกปี โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือ หรือแม้แต่ภาคกลาง เช่น จังหวัดกาญจนบุรี จะเป็นฤดูที่มีการเผาทำให้เกิดหมอกควันจากไฟป่าเพิ่มขึ้นเยอะเป็นพิเศษ

ซึ่งเรื่องของหมอกควันจากไฟป่ามันเป็นมลพิษทางอากาศ ที่เวลาเราสูดลมหายใจเข้าไป แล้วมันจะก่อให้เกิดโรคในระยะยาว มันเหมือนกับการที่เราสูบบุหรี่วันนี้เรายังไม่เห็นผลของการสูบบุหรี่ ว่าวันนี้พรุ่งนี้จะเสียชีวิต แต่มันจะสะสมไปเรื่อยๆ ซึ่งเราคงจะได้ยินเกี่ยวกับเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องของมลพิษจากควัน ฝากให้ช่วยกันดูแล ช่วยกันเป็นหูเป็นตา การป้องกันคือวิธีที่ดีที่สุด การป้องกันไม่ให้จุด ดีกว่าเราไปไล่จับ อยากจะฝากไปถึงประชาชนที่พบเห็นการเผาทำลายป่า หากพบขอให้โทร.แจ้งที่สายด่วน 1362 (ศูนย์สายด่วนพิทักษ์ป่า) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง




กำลังโหลดความคิดเห็น