ตราด - ชาวตราด เห็นด้วยแผนก่อสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่สายชุมทางศรีราชา-ระยอง และมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่ แต่แอบหวั่นไม่คุ้มค่าการลงทุน พร้อมขอย่นเวลาดำเนินการให้เหลือเพียง 3-5 ปี
วันนี้ ( 24 ก.ค.) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่สายชุมทางศรีราชา-ระยอง และมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่ นำโดย นายปัฐตพงศ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ,นางพิมพ์ใจ ยุทธบรรดล ผู้เชี่ยวชาญด้านประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน, น.ส.จิตสุดา ดำรงสุกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และนายธีรวิทย์ สุภาทิพย์ วิศวกรโยธา ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามแนวเส้นทางที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างฯ ที่ ห้องประชุมโรงแรมเอวาด้า จ.ตราด
ภายใต้วัตถุประสงค์สำคัญที่การหาเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ โดยมี นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานการประชุมและมีหัวหน้าส่วนราชการ,นักการเมืองท้องถิ่น นักธุรกิจ ประชาชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมกว่า 500 คน
นายณัฐพงษ์ เผยว่าการดำเนินโครงการรถไฟรางคู่มาถึง จ.ตราด เพื่อเชื่อมต่อไปยัง อ.คลองใหญ่ จะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุน โดยจะเป็นโครงการที่อาจจะต้องใช้เงินทุนสูงและเมื่อคิดคำนวณตัวเลขทางเศรษฐกิจแล้วอาจจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่เส้นทางรถไฟ จะมีประโยชน์ต่อการเพิ่มมูลค่าในด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจและจะสามารถต่อยอดเส้นทางไปยังประเทศกัมพูชา เวียดนาม และจีน หรืออาจไปไกลถึงประเทศมองโกลเลียและงเกาหลีใต้ได้ ซึ่งรัฐบาลคงต้องพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบเช่นกัน
ขณะที่ นายธีรวิทย์ สุภาทิพย์ วิศวกรโยธา การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) แถลงถึงผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการว่า โครงการรถไฟรางคู่สายชุมทางศรีราชา-ระยอง และมาบตาพุด - ระยอง-จันทบุรี-ตราด - คลองใหญ่ เป็นเส้นทางรถไฟสายใหม่ ที่จะวิ่งผ่าน 4 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และ จ.ตราด โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และสิ้นสุดที่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด โดยจะมีสถานีรถไฟทั้งหมด 34 สถานี ระยะทางรวม 333 กิโลเมตร
สำหรับแนวทางการคัดเลือกเส้นทางจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ แนวเส้นทางช่วงที่ 1 ที่จะเชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรมสู่นิคมอุตสาหกรรม มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากสถานีชุมทางศรีราชา-สถานีระยอง แนวเส้นทางช่วงที่ 2 เส้นทางเชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรมสู่พื้นที่ อ.เมืองระยอง มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากสถานีมาบตพุด ถึง อ.เมือง จ.ระยอง
และแนวเส้นทางช่วงที่ 3 เส้นทางเชื่อมโยงโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) และการท่องเที่ยว มีจุดเริ่มต้นจาก อ.เมือง จ.ระยอง ผ่านพื้นที่ จ.จันทบุรี และสิ้นสุดที่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด และพื้นที่ผ่านเก็บกองและขนถ่ายตู้สินค้า (Container Yard: CY) ที่มีความเหมาะสมสำหรับรองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่
เบื้องต้นได้กำหนดไว้ 3 แห่งคือ 1. บริเวณใกล้ทางเข้านิคมอมตะซินี้ระยอง 2. บริเวณ อ.ท่าใหม่ 3. บริเวณ อ.เมืองตราด จ.ตราด โดยก่อสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ใกล้กับสถานีเมืองตราดอีก 1 แห่ง
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟมี 6 รูปแบบ คือ 1. ทางรถไฟยกระดับ 2. ทางลอด 3. สะพานกลับรถ 4.ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ 5. ถนนเชื่อมจุดตัดใกล้เคียง 6 อุโมงค์รถไฟ
นอกจากนี้ได้เตรียมมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนในบริเวณแนวเส้นทางก่อสร้าง ทั้งการฉีดพรมน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันฝุ่นละออกขณะก่อสร้างบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง และติดตั้งเครื่องหมายจราจร ,ไฟเตือน ,ป้ายเตือน ตลอดแนวเส้นทางก่อสร้างเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ เป็นต้น
ส่วนแนวคิดการออกแบบรูปแบบสถานีรถไฟ จะดึงเอกลักษณ์ และสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและอากาศในพื้นที่ ภาคตะวันออก พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวดที่ครบครันสำหรับผู้ใช้บริการ
โดยที่ประชุมได้เสนอแนวทางและตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง โดยเฉพาะระยะทางกว่า 333 กม.และผลการศึกษาความเหมาะสมที่มีศักยภาพเพียง 12% ที่หากลงทุนไปแล้วอาจจะไม่คุ้มทุน ซึ่งรัฐบาลอาจไม่ดำเนินการก่อสร้างได้ หรือหากมีการเมืองเข้ามาแทรกอาจทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือเปลี่ยนเส้นทางเพื่อเอื้อประโยชน์ รวมทั้งระยะเวลาที่นานกว่า 8-10 ปีจึงจะก่อสร้างได้ ซึ่งสถานี จ.ตราดที่อยู่ไกลจากพื้นที่เมือง การเวนคืนที่ดินอาจจะได้ประโยชน์ไม่คุ้ม หรือเลยไปถึงการเชื่อมทางรถไฟกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และท่าเรือเอนกประสงค์คลองใหญ่ การเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน
ด้าน นายปัจตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ เผยว่าการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาชาวตราด เห็นด้วยกับการก่อสร้างทางรถไฟสายคู่แต่ต้องการให้ร่นระยะเวลาดำเนินการเหลือเพียง 3-5 ปี ทั้งนี้แม้ผลการศึกษาโครงการสร้างทางรถไฟจะมีค่าความคุ้มทุนเพียงร้อยละ 12 แต่ก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดทั้งหมดเพราะการลงทุนแม้อาจขาดทุนแต่ก็สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในด้านอื่นๆได้
ส่วนการเชื่อมไปยังต่างประเทศ ต้องได้รับการยินยอมด้วยกันทั้งสองฝ่าย ขณะที่สถานี จ.ตราด จะตั้งอยู่ที่บ้านโพร่งตะเข้ ต.เนินทราย ขณะที่ข้อเป็นห่วงของประชาชนที่ว่าการเมือง อาจส่งผลกระทบให้โครงการล่าช้านั้นสามารถอธิบายได้ แต่สิ่งที่จะทำให้การก่อสร้างทางรถไฟเร็วขึ้นก็คือการตั้งแผนยุทธศาสตร์ของ จ.ตราด ที่จะต้องมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่ไว้ด้วย